พิการ ผ่าตัด 8 ครั้ง แต่ใจกตัญญู ทำขนมไทยขาย ช่วยแม่ป่วยโรคหัวใจ
ผ่าตัดตั้งแต่เด็กรวม 8 ครั้ง กายพิการแต่ใจสู้ไม่หวั่น เรียนรู้วิธีทำขนมไทย เปลี่ยนความชอบสู่การสร้างรายได้ เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง และดูแลแม่ป่วยโรคหัวใจ ชีวิตที่ยังคงเดินต่อไป บนทางคำสอนของแม่ "ขยันทำงาน ถึงพิการก็มีคุณค่า"
"อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ - ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน"
พุทธศาสนสุภาษิตแสนคลาสสิกดังกล่าว ทีมข่าวฯ เชื่อเป็นแม่นมั่นว่าน่าจะผ่านหูผ่านตาคุณผู้อ่านมาบ้างไม่มากก็น้อย เหตุที่เราเลือกเปิดหัวด้วยประโยคนั้น นั่นก็เพราะว่าเมื่อได้ฟังเรื่องราวชีวิตของผู้ให้สัมภาษณ์จบ คำสอนนี้ก็ลอยเข้ามาในความคิดทันที ราวกับว่าประโยคข้างต้น คือ 'บทสรุป' ของเรื่องราวทั้งหมด
เนื้อหาในสกู๊ปที่ทุกคนกำลังจะได้อ่านนับจากนี้ คือชีวิตจริงของครอบครัว 'เอี่ยมสะอาด' ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งนามว่า 'วีออส-คนิรุทธ์ เอี่ยมสะอาด' ซึ่งเขามีภาวะพิการตั้งแต่ยังเล็ก แต่ก็พยายามสู้ชีวิตมาตลอด โดยการหารายได้จากการทำขนมไทย เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จนบัดนี้เขาอายุได้ 22 ปีแล้ว ซึ่งระหว่างทางเติบโต เขามีแม่และพี่สาวคอยอยู่เคียงข้างไม่ห่างไปไหนไกล
น้องวีออสต้องผ่าตัดรวม 8 ครั้ง :
คุณแม่รัชดาพร เอี่ยมสะอาด อายุ 43 ปี เล่าถึงชีวิตของน้องวีออสให้เราฟังว่า น้องเป็นคนที่แขนผิดรูปมาตั้งแต่กำเนิด บริเวณข้อศอกงอ ไม่สามารถเหยียดตรงได้ ส่วนมือข้างซ้ายก็อ่อนแรง เนื่องจากนิ้วโป้งพับลงไม่มีกระดูก ทำให้น้องต้องผ่าตัดให้ช่วงศอกยืดได้ แต่ก็ไม่ได้ตรงเสียทีเดียว และยังต้องผ่าตัดนิ้วชี้เพื่อนำมาใช้เป็นนิ้วโป้งอีกด้วย
"น้องมาป่วยหนักจริงๆ จนต้องเข้า ICU เมื่ออายุประมาณ 14 ปี เพราะกระดูกสันหลังคดจนกระดูกมาทับปอด ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัด เพื่อใส่เหล็กดามไว้ตั้งแต่ต้นคอจนถึงบั้นเอว"
คุณแม่ เสริมว่า เมื่อวีออสอายุประมาณ 14 ปี ประมาณ ม.2 ขึ้น ม.3 น้องรู้สึกว่าตัวเองนั่งหลังตรงมาตลอด แต่จากที่แม่ได้สังเกต เรารู้สึกว่าน้องเริ่มมีอาการผิดปกติ เพราะเห็นว่านั่งหลังงอแปลกๆ อย่างไรก็ตาม เราไม่เคยเห็นหลังลูกแบบจริงๆ จังๆ เพราะอย่างเวลาเขาอาบน้ำ เขาก็จะไปอาบคนเดียว และวีออสก็เป็นผู้ชาย ส่วนเราเป็นผู้หญิง เลยไม่ได้วุ่นวายอะไรกับลูกมาก
แล้วทุกอย่างเริ่มชัดเจนเมื่อไร จึงทำให้คุณแม่มั่นใจว่าน้องมีอาการผิดปกติจริงๆ? ทีมข่าวฯ ถามกลับ คุณแม่รัชดาพร ตอบว่า วันหนึ่งเขาบ่นว่าปวดหลังมาก เราเลยขอเปิดหลังดู ซึ่งพอเห็นก็ตกใจเลย เพราะว่าหลังของลูกบิดผิดรูปจนเหมือนตัวเอส (S)
"เราต้องพาน้องไปรักษาที่กรุงเทพฯ ซึ่งแพทย์บอกว่าน้องมีอาการหลังคดมาก อยากให้แม่ตัดสินใจเลยว่าจะให้น้องผ่าตัดไหม โดยหมอแนะนำให้ผ่าตัดตอนนี้ เพราะถ้ากลับมาอีกครั้งอาจจะผ่าตัดให้ไม่ได้ เนื่องจากอาการทรุดเร็วมาก และน้องเริ่มเหนื่อย จนจะหายใจด้วยตัวเองไม่ได้"
ผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจให้น้องผ่าตัด ทำให้วีออสต้องอยู่ในห้อง ICU ถึง 2 คืน และพักอยู่ในโรงพยาบาลต่ออีกประมาณ 25 วัน หลังจากนั้นต้องกลับมานอนพักฟื้นที่บ้านต่ออีกหลายเดือน และต้องเดินทางไปพบแพทย์อยู่เป็นระยะ
"หลังน้องผ่าตัดเสร็จ หมอบอกว่าเราต้องรับให้ได้ เพราะน้องไม่ได้กลับมา 100% เหมือนคนทั่วไป อาจจะมีความผิดปกติ หลังจะบิดไม่ตรงเป๊ะ แต่ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ เพียงแต่ว่าต้องมาพบแพทย์ อย่าทิ้งนัด ซึ่งเราก็ไปตามแพทย์นัดตลอด"
"ตลอดชีวิตของน้องผ่าตัดรวมประมาณ 8 ครั้ง ทั้งหลัง ศอก มือ ที่ต้องผ่าหลายครั้งเพราะต้องร้อยเอ็นใหม่ด้วย" คุณแม่กล่าวสรุปในส่วนนี้กับเรา
ยอมเป็นหนี้เพื่อรักษาชีวิตลูก :
ช่วงที่วีออสเข้ารับการผ่าตัด คุณแม่เปิดใจกับเราว่า มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แม้ว่าน้องจะเป็นคนพิการอยู่แล้ว และคนมักจะเข้าใจว่าผู้มีบัตรคนพิการไม่ต้องเสียเงินยามรักษาพยาบาล แต่ความเป็นจริงมันมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มต่างๆ นานา
"เช่น ค่าเหล็กไททาเนียมที่ใช้รองกระดูกสันหลังตอนผ่าตัด เวลาทำความสะอาดเครื่องอุปกรณ์ก็เสียเกือบ 3 หมื่นบาท ซึ่งที่เราตัดสินใจใช้ส่วนนี้ เพราะหมอแนะนำว่า ถ้าไม่ใช้จะมีผลกระทบหลังผ่าตัด เบาสุดคือน้องฟื้นตัวช้า หนักสุดคือเดินไม่ได้ เราจึงเลือกใช้อุปกรณ์ แต่ถ้าใช้ไปแล้วไม่มีเงินจ่าย แพทย์ก็อาจจะต้องนำออก ซึ่งเราต้องรับผลที่จะตามมาให้ได้ อย่างไรก็ตาม พอเราใช้ปุ๊บ น้องก็ฟื้นตัวเร็วเหมือนที่หมอแนะนำจริงๆ"
คุณแม่ เล่าว่า ค่าพยาบาลที่นำมารักษาน้อง ใช้เงินที่มีอยู่ทุ่มให้จนหมด มีบ้านมีรถก็นำไปจำนอง อะไรที่ขายได้ก็ขายให้ได้เงิน แม้ว่าจะไม่มียังไงก็ต้องดิ้นรนทุกวิธี เพื่อพาลูกไปหาหมอให้ได้
"ช่วงที่ลูกยังไม่ป่วยถือว่ารายได้ค่อนข้างดี เราเปิดร้านขายของที่ระลึกในตลาดน้ำให้กับชาวต่างชาติ แต่ช่วงที่ลูกต้องผ่าตัดดันตรงกับช่วงโควิดพอดี ทำให้ของขายได้น้อยลง รายรับที่เข้ามาเริ่มไม่เพียงพอ แล้วเราก็ต้องดึงเงินที่มีมาเพื่อรักษาเขา เลยทำให้กิจการล้ม เกิดภาวะเป็นหนี้"
"แต่ถึงเราจะเป็นหนี้ก็ต้องยอม เพราะหมอบอกว่า "ถ้าไม่ผ่าตัดน้องจะตาย" เราคิดว่าสมบัติยังไงก็ต้องหาได้ ตอนนี้ไม่มีไม่เป็นไร ไปตายเอาดาบหน้า เดี๋ยวค่อยไปรับจ้างทำอย่างอื่น ยอมจ่ายเงินเพื่อรักษาชีวิตลูกก่อน"
...
คุณแม่ เปิดใจว่า ที่ต้องพยายามดิ้นรนทุกทางเพื่อช่วยชีวิตลูกไว้ เพราะเราเคยไม่อยากมีชีวิตอยู่ จนวันหนึ่งที่มีลูก ลูกเป็นเหมือนกำลังใจให้เราอยากก้าวต่อ วันหนึ่งที่รู้ว่าลูกอาจจากเราไป ไม่ว่าจะบ้าน รถ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีความหมายอีกเลย ทองที่อยู่ในตัวก็ยังไม่มีค่าเท่าลูก
เริ่มขายของ เพราะเห็นแม่โดนทวงหนี้ :
จนกระทั่งวีออสอายุ 16 ปี เขาได้รู้ว่าแม่เป็นหนี้จากการหาเงินมารักษาตนเอง ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่ไม่เคยเอ่ยปากถึงปัญหานี้เลย แต่เขารู้เพราะคนทวงหนี้มักจะมาที่บ้าน แล้วทวงเงินเสียงดัง อีกทั้งยังเห็นแม่ร้องไห้เพราะความเครียด
"ตอนที่เริ่มเห็นแม่ร้องไห้ ผมก็รู้สึกเศร้ามาก เพราะกลัวว่าแม่จะเป็นอะไรไป" วีออสกล่าวกับทีมช่าวฯ
เมื่อเหตุการณ์ทางบ้านเริ่มไม่สู้ดีนัก ทำให้คนิรุทธ์เริ่มคิดหารายได้ช่วยแบ่งเบาแม่ จึงตัดสินใจขอเงินไปร้านของเล่นมือสอง หาฟิกเกอร์ที่เกี่ยวกับอนิเมะมาโพสต์ขาย ซึ่งตัวเขาเองค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถสร้างเงินจากตรงนี้ได้
คุณแม่ เล่าเสริมขึ้นมาว่า ครั้งแรกน้องขอเงินไปซื้อประมาณ 300-400 บาท แล้วไปขายต่อได้ประมาณ 800 บาท เขาวิ่งมาอวดเราทำนองว่า 'ทำได้แล้ว' และยังบอกอีกว่า ถ้าซื้อได้เยอะขึ้น ก็จะทำกำไรได้กว่านี้ ตัวเราเองพยายามเชื่อมั่นว่าลูกทำได้ แต่ก็เตือนให้ระวังหน่อย เพราะถ้าเงินหมดก็จะไม่มีแล้ว ไปยืมใครก็ลำบาก
ทีมข่าวฯ สงสัยว่า น้องวีออสชื่นชอบอนิเมะเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหรือ ถึงรู้ว่าตัวไหนจะขายได้หรือไม่ได้?
คุณแม่ ให้คำตอบว่า เกิดจากช่วงที่เขานอนรักษาตัว ไม่สามารถไปไหน เลยนอนดูการ์ตูน เรียกได้ว่าดูเยอะจนจำรายละเอียดได้ เขาไปเข้ากลุ่มเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับอนิเมะ เริ่มศึกษาเองจนพอจะเดาได้ว่าควรไปซื้อของที่ไหน ซื้ออะไร มาขายใคร และตั้งราคาเท่าไร
วีออส ยอมรับว่า ช่วงที่ขายของจากอนิเมะได้ดี ทำให้มีรายได้มาช่วยเหลือแม่ระดับหนึ่ง แต่เมื่อนานวันเข้า สิ่งของเหล่านั้นราคาเริ่มตกลง และคู่แข่งในตลาดมากขึ้น ทำให้ตัวเขาเองต้องเริ่มมองหาอะไรใหม่ๆ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะขายอะไรดี
เริ่มทำขนมไทยเพราะชอบกิน สู่ต่อยอดสร้างรายได้ :
วีออสเป็นคนที่ชื่นชอบขนมไทย โดยเฉพาะอาลัวและวุ้นกรอบ เนื่องจากคุณตามักซื้อมาให้กินในตอนเด็ก แต่พอถึงช่วงหนึ่งที่ไม่ค่อยมีเงิน ครั้นจะซื้อกินก็รู้สึกว่า 'ราคาสูงกว่ารายได้ที่มี' ตนจึงตัดสินใจลองทำขนมกินเอง เผื่อว่าจะช่วยลดความอยากที่มีลงได้
ซึ่งสูตรที่วีออสได้ลองทำ เป็นสูตรที่ได้มาจากโครงการ U2T ซึ่งได้พาเขาไปเรียนทำขนมที่ร้านแถวบางนกแขวก หลังจากได้ศึกษาวิธีการทำเบื้องต้น วีออสก็ลองมาปรับสูตรแล้วปรับสูตรอีก จนตัวเองรู้สึกว่า 'นี่แหละ ถูกใจ!'
วีออส เล่าว่า หลังจากที่ทำอาลัวเสร็จ ผมลองเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก มีพี่มาขอซื้อ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากทำขนมขาย แต่ตอนแรกผมก็งงว่าควรตั้งราคาเท่าไร หรือขายยังไง เลยวิ่งไปถามแม่ แม่แนะนำวิธีตั้งราคา คิดไปคิดมาเลยตั้งราคาขายที่กระปุกละ 150 บาท คนที่ซื้อไปกินครั้งแรกบอกว่าหอมดี แต่แนะนำหัดบีบให้คล่องๆ เพราะออกมาแล้วจุกยังไม่สวย เหมือนที่ขายทั่วไป
คุณแม่รัชดาพร เล่าเสริมในส่วนนี้ว่า พวกพี่เขามาอุดหนุนเพราะอยากส่งเสริมน้อง เนื่องจากเขารู้ว่าเงินที่วีออสไปซื้อวัตถุดิบมาลองทำ มาจากเบี้ยคนพิการที่รัฐให้ เขาเลยคิดกันว่า 'ถ้าอย่างนั้นน้องก็ต้องเสียเงินไปฟรีๆ' เลยอุดหนุนน้อง แล้วบอกว่าให้นำเงินนี้ไปซื้อวัตถุดิบต่อ จะได้ทำขายได้เรื่อยๆ
"ตอนลงทุนซื้อวัตถุดิบครั้งแรก น้องใช้เงินประมาณ 300-400 บาท แต่ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในช่วงแรก เพราะน้องยังไม่มีเครื่องอบ ก็เลยต้องเอาเงินที่สะสมไว้ ไปซื้อเครื่องอบขนาดเล็ก ตอนนั้นในแอปฯ หนึ่งขายอยู่ที่ประมาณ 500 บาท แต่น้องไม่เคยสมัครหรือซื้อของมาก่อน ทำให้ได้ส่วนลดมาอีก 200 บาท วีออสเลยได้เตาอบจิ๋วมาในราคา 300 บาท เท่ากับว่าน้องเริ่มต้นด้วยทุนจากเงินสะสมตัวเองหมดเลย"
แม่ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ :
หลังจากนั้นวีออส คุณแม่ และพี่สาว ได้ช่วยกันทำขนมขายมาเรื่อยๆ แต่แล้ววันหนึ่งก็เหมือนโชคชะตาเล่นตลกกับครอบครัวเอี่ยมสะอาดอีกครั้ง เพราะคุณแม่มาล้มป่วยลง…
แม่น้องวีออส บอกกับเราว่า อาการของเราเกิดจากความเครียดที่สะสมมา ทั้งเป็นหนี้ ลูกป่วย ทุกอย่างประเดประดังเข้ามา อาการที่แสดงออก เราคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ เพราะตัวเองกินข้าวไม่ตรงเวลา แต่สุดท้ายแล้วเป็นโรคหัวใจ
"เราไปหาหมอที่โรงพยาบาล แล้วล้มลงไปเลย ตอนนั้นหมอบอกว่าโชคดีที่เป็นลมที่นั่น เพราะถ้าช่วยช้าประมาณ 5 นาที อาจเสียชีวิตได้ หมอไม่ให้กลับบ้าน เพราะต้องได้รับยาให้ครบโดสตลอด 5 วัน ยิ่งทำให้เรากังวลเข้าไปใหญ่ เพราะห่วงว่าลูกที่อยู่ที่บ้านจะเป็นยังไง"
"ตอนที่เราป่วย ทั้งเป็นห่วงและสงสารลูก คิดว่าเขาจะดูแลกันยังไง แต่ลูกสาวบอกว่าไหว ไม่ต้องเป็นห่วง พวกเขาดูแลตัวเองได้ ส่วนแม่ไม่ต้องห่วงค่ารักษา เขาจะช่วยกันหารายได้ ซึ่งเราผ่าตัดมาแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนมกราคม ปี 2566 ครั้งที่สอง วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ล่าสุดเร็วๆ นี้ เจอเนื้องอกในมดลูก แต่ยังผ่าตัดไม่ได้ หมอเลยให้ใส่ห่วงอนามัยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เนื้องอกโตไปมากกว่านี้"
ด้าน ขิม (น.ส.นิสารัตน์ เอี่ยมสะอาด อายุ 26 ปี) ซึ่งเป็นพี่สาว เปิดใจกับเราว่า ตอนที่แม่ล้มป่วยยอมรับว่าตกใจมาก แต่ต้องมีสติเพราะต้องอยู่กับน้อง ให้กำลังใจน้องเสมอ ถ้าถามว่าท้อไหม ก็ต้องบอกว่าท้อไม่ได้ เพราะถ้าท้อจะหมดกำลังใจใช้ชีวิต
"ตอนนั้นจะพาน้องซ้อนท้ายไปหาแม่ที่โรงพยาบาลตลอด ช่วงที่แม่ต้องนอนรักษาตัว จะเป็นคนไปนอนเฝ้า แล้วก็คอยไป-กลับ ระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล"
ไม่ขอเปิดรับบริจาค :
คุณแม่ เล่าให้ฟังต่อไปว่า ช่วงที่ล้มป่วยน้องก็ยังโพสต์ขายขนมหน้าเฟซบุ๊ก และขอให้ทุกคนช่วยอุดหนุน เพราะจะหาเงินไปรักษาแม่ที่ป่วย คราวนี้น้องมาบอกกับเราว่า มีพี่คนหนึ่งแนะนำให้เปิดรับบริจาค ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนั้น
"ที่เราไม่เห็นด้วย เพราะการเปิดรับบริจาคมีทั้งคุณและโทษ เนื่องจากมันมีเคสหลายเคสที่เปิดรับบริจาค แล้วนำเงินไปใช้ไม่ตรงกับจุดประสงค์ เราเลยไม่อยากให้คนมาเพ่งเล็ง หรือคอยจับผิดแบบนั้น"
คุณรัชดาพร กล่าวว่า เราบอกลูกว่าถ้าหนูทำขนมขาย แล้วเอาเงินนั้นไปซื้อของกิน หรือของที่อยากได้ เวลาคนเขามาเห็นมันจะไม่เกิดดราม่า แต่ถ้าหนูเปิดรับบริจาคไป วันหนึ่งคนเขาเห็นหนูใช้เงิน เขาจะเริ่มตั้งคำถาม และสงสัยว่าหนูเอาเงินบริจาคมาใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์
"เราสอนเขาว่าการเปิดรับบริจาค คือ การดึงเงินในอนาคตมาใช้ ถ้าเปิดรับบริจาคบ่อยๆ จะสิ้นคนที่เขาเมตตาเรา เพราะเขาจะมองว่าเดี๋ยวคุณก็เปิดรับบริจาค จะกลายเป็นว่าเราไม่ได้ช่วยเหลือตัวเอง เคยมีคนโทรมาบอกว่า 'ถ้าคุณแม่เปิดรับบริจาคจะได้รับการช่วยเหลือเร็ว' เราเลยตอบเขาว่า ถ้าทำแบบนั้น แล้ววันหนึ่งแม่ไม่อยู่ เขาจะอยู่กันยังไง"
"ถ้ารักเด็กคนนี้จริงๆ ขอให้เขาได้ขายของ ให้เขาได้มีอาชีพ ให้เขามีรายได้จากของที่เขาขาย ให้ตัวเขาได้รู้จักดิ้นรนทำงาน เราในฐานะแม่ไม่อยากให้เขาได้อะไรมาฟรีๆ เราไม่อยากให้คนมองลูกเราด้วยสายตาไม่ดี ถ้าลูกเราขยัน มีเงินมีทองเพราะหาเลี้ยงตัวเอง ในความคิดเราเขาจะดูเป็นคนมีค่า ถ้าเราสอนให้เขารักสบาย อะไรก็เปิดรับบริจาค เราไม่รู้เลยว่าเขาจะกลายเป็นคนแบบไหน"
ให้พี่ได้เรียนจบก่อน :
หลังจากที่วีออสเรียนจบจาก กศน. เขาก็อยากเรียนต่อระดับ ป.ตรี แต่ช่วงนั้นบ้านยังไม่ค่อยมีเงิน และพี่สาวยังเรียนไม่จบ หากตนจะเรียนทันทีก็เกรงว่า รายได้จะไม่พอกับรายจ่าย วีออสจึงตัดสินใจให้พี่เรียน ป.ตรี ให้จบก่อน แถมยังถามพี่สาวด้วยอีกว่า "ต้องใช้เงินอีกกี่บาท เดี๋ยวช่วยกันทำขนม"
วีออส บอกว่า ผมไม่เสียใจเลยที่ให้พี่ได้เรียนจบก่อน เพราะเขาใกล้จบแล้ว เดี๋ยวถ้าพี่จบผมค่อยตามไปก็ได้ ไม่มีอะไรสายเกินไป
คุณแม่ เสริมว่า พี่สาวเขาก็นำเงินไปลงเรียนที่ มสท. ต่อให้จบ เพราะเหลืออีกแค่ 4 ตัว ส่วนลูกก็ไม่ได้มีปัญหากัน เพราะทั้งคู่ก็เข้าใจฐานะทางบ้านว่าลำบากแค่ไหน พวกเขามั่นใจซึ่งกันและกัน จริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าพี่จบแล้วจะมาดูแลน้องต่อ แต่น้องเชื่อว่าถ้าพี่จบแล้วจะไม่ทิ้งเขาไปไหน เขาเลยให้พี่นำไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้วีออสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีแล้ว โดยเขาได้รับทุนการศึกษา เพื่อเรียนต่อในสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน หรือมหาวิทยาลัยชีวิต คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นทุนสำหรับเด็กพิการเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์
น้องวีออส กล่าวความรู้สึกกับทีมข่าวฯ ว่า ตอนเขามาเสนอทุนแล้วบอกว่าเรียนฟรี รู้สึกดีใจมากครับ ให้แม่คุยรายละเอียดให้ ตอนนี้เรียนได้เทอมนึงแล้ว สนุก และแฮปปี้มากครับ ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ และได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ ด้วย
การทำงานที่ทุกคนไปด้วยกัน :
คำสอนของแม่ ทำให้น้องชายและพี่สาว ไม่เคยย่อท้อต่อเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต พวกเขาสู้อย่างสุดใจอยู่เสมอ ทุกวันนี้ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ร้านขนมของวีออสจะขาดใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย
คุณแม่เปรียบว่า วีออสเหมือน CEO ที่คอยควบคุมทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นฝ่ายผลิตที่คอยทำขนมอร่อยๆ ให้คนได้กิน ส่วนพี่สาวและแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนอยู่ข้างๆ อย่างพี่สาวจะคอยช่วยยกของ ยกกระทะ แพ็กของ เพราะมือน้องไม่ค่อยแข็งแรง
วีออส บอกกับเราว่า ตอนนี้ที่ร้านขายอาลัว วุ้นกรอบ วุ้นกรอบศูนย์แคล อาลัวพิมพ์ และขนมสัมปันนี ซึ่งวีออสเป็นคนทำเองหมด ปรับสูตรมาเรื่อยๆ จนลงตัว จุดเด่นของขนมที่ร้านคือหวานน้อย ใช้แค่น้ำตาลพอเคลือบ ทำให้ลูกค้ากินได้เพลินขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ฝากถึงในส่วนนี้ไว้ว่า น้องทำจะทำขนมตามออเดอร์ ไม่มีสต๊อกค้างไว้ เพราะขนมจะเสียรสชาติ เปิดรับออเดอร์ตลอด แต่จะแจ้งกับลูกค้าเสมอว่ารอของประมาณ 7-14 วัน
หากคุณผู้อ่านสงสัยว่า ทำไมต้องรอนานขนาดนั้น?
แม่น้องวีออส ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมมติว่ามีคนสั่ง อาลัว 5 ถุง วุ้นกรอบ 5 ถุง วุ้นศูนย์แคล 5 ถุง ทุกอย่างจะทำพร้อมกันไม่ได้ มันต้องทำไปเป็นรอบๆ เช่น ตู้อบที่มีปัจุบันสามารถอบได้ 20 ชั้น วุ้นกรอบจะใช้เวลาอบ 3 วัน อาลัว 2 วัน วุ้นคีโต 2 วัน เป็นต้น ทำให้เวลาในการผลิตมันนาน พอเขาไม่เข้าใจกระบวนการตรงนี้ ก็จะมองว่าน้องทำขนมช้า
อย่างไรก็ตาม ถึงวีออสจะรู้สึกเหนื่อยกับการทำขนมอยู่บ้าง แต่เขาบอกกับเราว่า ปลื้มใจที่มีคนชอบขนมที่ทำ และดีใจที่คนไทยรู้จักขนมไทยมากขึ้น ส่วนเรื่องการใช้ชีวิต อยากให้ทุกคนสู้ๆ ทุกเรื่องผ่านมาแล้วจะผ่านไป ไม่อยากให้ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามา
สำหรับใครที่อยากสนับสนุนการต่อสู้ของวีออส สามารถติดตามได้ที่ คนิรุทธ์ วีออส เอี่ยมสะอาด
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2785337