“วราวุธ” ชูมิติการพัฒนาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หนุนสูงวัย-พิการ-คนรุ่นใหม่
“วราวุธ” เดินหน้านโยบายพัฒนาไทยทุกมิติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หนุนสร้างแวดล้อมรับสังคมสูงวัย ผู้พิการ คนรุ่นใหม่
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวปฐกถาพิเศษในหัวข้อ“การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และคนทุกกลุ่มเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ว่า การพัฒนาประเทศต่อจากนี้ไป นอกจากจะต้องให้ความสำคัญในมิติด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาทุกคนให้เดินไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเอกชนและหอการค้าจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและคนทุกกลุ่มเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันประชากรไทยกว่า 60 ล้านคน ราว 23 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการกว่า 4 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ ประชากรสูงอายุในปัจจุบันอยู่ที่ 12.8 ล้านคน เป็นสัดส่วน 19.7% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และอีกไม่กี่ปีจากนี้ไปหากจำนวนประชากรเกิดใหม่ไม่เพิ่มขึ้นอีก ไทยก็จะเปลี่ยนสถาระประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Age Society) สัดส่วนเกิน 20% ของประชากร
สำหรับหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงโอกาส ได้รับการคุ้มครองทางสังคมและมีความมั่นคงในการใช้ชีวิต โดยการทำงานจะประกอบด้วย การให้บริการขั้นพื้นฐานของรัฐ สร้างโอกาสในการพัฒนาศักภาพของตัวเอง การให้หลักประกันกับกลุ่มด้อยโอกาส รวมถึงความปลอดภัยและการทำให้คนทุกคนไม่ว่าจะเพศใด วัยใด สถานะใด ให้ยืนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า โดยในแง่กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจ้างงานคนพิการ ปัจจุบันมีคนพิการในสถานประกอบการ66,736 คน และในหน่วยงานรัฐ 3,515 คน และหากไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนการพัฒนาคนพิการ ซึ่งมีเงินเข้ากองทุนดังกล่าวตกปีละพันล้านบาท ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการจ้างงานคนพิการเท่าที่ควร
“กระทรวงฯ ได้เสนอในที่ประชุมครม. ให้เพิ่มปริมาณการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากคนพิการไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่พวกเขามีศักยภาพอีกมากเพียงแต่สภาพแวดล้อมของสังคมไทยในปัจจุบันยังไม่ได้ให้สิ่งจำเป็นที่ช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตประจำวันได้”
ดังนั้นการออกแบบสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ทำงานโดยคำนึงถึง อารยสถาปัตย์ เพื่อให้คนทุกคนสามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำทางลาดเอียง ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องทำให้เพียงพอรับประชากรในอนาคต
นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมให้วัยเกษียณยังกระปรี้กระเปร่า (Active Aging) โดยปัจจุบันการจ้างงานผู้สูอายุมีอยู่ 5 ล้านคนเท่านั้น จากทั้งหมด 13 ล้านคน ซึ่งอีกไม่นานประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากรที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจเมื่อประชากรวัยแรงงานอายุ 20-30-40 ปี ลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น โดยหนึ่งในทางแก้ปัญหาคือจะต้องดึงแรงงานสูงวัยกลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นยังมีสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายและออกกำลังสมอง ติดสังคมแทนที่จะเป็นคนติดเตียง
นอกจากนี้อีกแนวทางหนึ่งคือการผลิตเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีแนวคิดการสร้างครอบครัวของแต่ช่วงวัยแตกต่างกันและปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการมีลูก เพราะค่าใช้จายในการเลี้ยงดู รวมถึงความกังวลเรื่องความปลอดภัยในสังคม
“การแก้ไขปัญหาสังคมไทยต้องย้อนกลับไปดูที่หน่วยที่เล็กที่สุดคือสถาบันครอบครัว การสร้างสภาพแวดล้อมให้ครอบครัวยังมีความอบอุ่นและมีโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโตอย่างปลอดภัย”
นอกจากนี้อีกประเด็นสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนคือการสร้างความมั่นคงให้คนทุกช่วงวัย การสร้างที่อยู่อาศัยให้คนรุ่นใหม่สามารถจับต้องได้ ในขณะที่ราคาที่ดินในปัจจุบันขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ ทำโครงการบ้านพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล 7,000 หน่วย รวมทั้งออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รองรับคนทุกช่วงวัย
นายวราวุธ กล่าวว่า ในเดือนพ.ย.นี้ รัฐบาลจะร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเน้นย้ำเรื่องการยุติความรุนแรงในเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมถึงความรุนแรงในสถานประกอบการทั้งทางร่างการและจิตใจ
โดยการทำงานของกระทรวงจะต้องปรับเปลี่ยนรวมกันเป็น พม. หนึ่งเดียว เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้านคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เป็นการรวมศักยภาพของทุกกรมภายในกระทรวงฯ ให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1099528