วช.-มหิดล-กทม. ร่วมมือแพลตฟอร์มช่วยผู้สูงอายุเดินทาง
วช.-มหิดล-กทม. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัย “ระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ”
วันที่ 15 พ.ย.2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยมหิดล และกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัย เรื่อง แพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ โดย แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนาที่ปรึกษารมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าว และเป็นสักขีพยานมี นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร ร่วมลงนาม เพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการสู่ระบบสาธารณสุข และเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่ช่วยการบริการทางการแพทย์และการให้บริการในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ ณ ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง
แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวว่า นวัตกรรมระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้พิการ สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สจส. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้นำร่องใช้ในการรับจอง และจัดการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มีพาหนะและการช่วยเหลือที่เหมาะสม เกิดความปลอดภัย รวดเร็ว และติดตามสอบย้อนกลับในการเดินทางได้
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย วช.กล่าวว่า โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุสู่ระบบสาธารณสุข ของ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. สามารถตอบสนองรองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.มหิดล กล่าวว่า นวัตกรรมนี้ เป็นของศูนย์ LogHealth ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ ช่วยจัดการข้อมูลการใช้รถติดตามรอบการรับส่ง ติดตามการใช้งานของผู้สูงอายุและผู้พิการ รองรับการใช้งานผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์
ด้านนายไทภัทร ธนสมบัติกุล กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าว กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชั่นภายใต้แนวคิด “เรียก รับ จัด จ่าย” โดยเริ่มทดลองใช้งานตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค. 2566 เกิดประโยชน์ในการจัดตารางรถรับส่งแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ส่วนระยะต่อไป กทม. จะใช้จัดเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้การเรียกใช้บริการสะดวกขึ้น และจะขยายโครงการเพิ่มจุดบริการรับส่งให้ครอบคลุมสถานพยาบาลของกทม. ต่อไป
ขอบคุณ... https://www.naewna.com/local/769481