ชี้ช่องรวม ‘ประกันสังคม-บัตรทอง’ ยันทำไม่ยาก-มีหลายวิธี ยกเคสรักษา ‘คนพิการ’ เป็นตัวอย่าง
“อ.ษัษฐรัมย์” มอง รวมสิทธิรักษา “ประกันสังคม - บัตรทอง” ทำได้ไม่ยาก - มีหลายวิธี แต่ต้องอาศัยแรงมุ่งมั่นทางการเมืองจาก “สธ. - สปส.” พร้อมยกกรณีคนพิการที่เป็นผู้ประกันตนซึ่งสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ เป็นตัวอย่าง
วันที่ 25 ก.พ. 2568 รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) สัดส่วนผู้ประกันตน เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ครั้งที่ 4/2568 ถึงประเด็นข้อเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า การดำเนินการในส่วนนี้จำเป็นต้องอาศัยแรงมุ่งมั่นทางการเมืองจากทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปส. เอง ซึ่งกำลังจะมีการตั้งคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม (บอร์ดแพทย์ประกันสังคม) ในเดือน มี.ค. 2568 นี้
ทั้งนี้ ถ้าสามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างบอร์ดแพทย์ประกันสังคม กับ สธ. ได้ คิดว่าก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ควบคู่ไปกับสิทธิประโยชน์ของ สปส. ที่จะอาจจะเป็นส่วนเพิ่มเติมจากการชดเชยรายได้จากการเจ็บป่วยได้
เมื่อถามว่าหากสามารถทำให้ สปส. ออกจากระบบราชการ ได้ ผ่าน พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กำลังขับเคลื่อนอยู่ ยังจำเป็นจะต้องรวมกองทุนประกันสังคมกับกองทุนบัตรทอง อยู่หรือไม่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า คิดว่าทั้ง 2 กรณี เป็นทางเลือก และไม่ได้เป็นเงื่อนไขบังคับว่าถ้า สปส. ออกจากระบบราชการและจะต้องเดินหน้ารวมกองทุน
มากไปกว่านั้น แม้ สปส. ไม่ออกจากระบบราชการ ก็สามารถที่จะรวมสิทธิด้านการรักษาพยาบาลได้ เหมือนผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนในปัจจุบันที่สามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทได้ เพราะมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาขณะนั้นรองรับ ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจจะยังไม่ต้องแก้ไขครั้งใหญ่ก็ได้
เมื่อถามอีกว่า มองว่าทางเลือกไหนน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องการรวมสิทธิด้านการรักษาพยาบาลอย่างเดียวระหว่างกองทุนบัตรทอง และกองทุนประกันสังคม น่าจะง่ายกว่า เนื่องจากอาศัยแค่ 2 ฝ่าย แต่ถ้าเป็นกฎหมายใหม่ ก็จำเป็นต้องใช้สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีความยากกว่า