สภาคนพิการ ยื่น กมธ.ส.ส. แก้ปัญหากองทุน-เร่งจ้างคนพิการ ตามกฎหมายกำหนด
‘สภาคนพิการทุกประเภท’ ร้อง ‘กมธ.เด็กฯ’ วอน สนับสนุน ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อรัฐบาล
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รับยื่นหนังสือจาก นายศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและคณะ เพื่อขอให้คณะ กมธ. สนับสนุน ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อรัฐบาล ที่สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย มีมติเห็นชอบในงานสมัชชาคนพิการแห่งชาติและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 โดยมีเรื่องสำคัญเร่งด่วน 2 ประการ ได้แก่
1. ขอให้ยุติการนำเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาโดยกระทรวงการคลังมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว312 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 66 เรื่อง ขอความร่วมมือให้กองทุนฯ สังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยืนยันผลการคำนวณทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินปีบัญชี 2566 เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนพิจารณาเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเรียกให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 3,072,881,770.30 บาท เหมือนในปี 2559 ที่รัฐบาลเดียวกัน เคยยึดเงินจากกองทุนฯ ไปถึง 2,000 ล้านบาท ทว่าสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย ได้ต่อสู้ฟ้องร้องเพื่อปกป้องคุ้มครองเงินของคนพิการในกองทุนฯ จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาให้กระทรวงการคลังคืนเงินที่ยึดไปจากกองทุนคนพิการกลับคืนมา 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขอให้คณะ กมธ. ช่วยสนับสนุนเรื่อง การยกระดับกองทุนคนพิการให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไปด้วย
2. ขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งจ้างงานคนพิการให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยข้อมูลการรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐของปี 2566 ณ เดือนมิถุนายน หน่วยงานของรัฐยังต้องจ้างงานคนพิการอีกกว่า จำนวน 15,798 คน (ร้อยละ 84.18) จากที่ต้องจ้างทั้งหมด จำนวน 18,766 คน ประกอบกับเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 66 คณะรัฐมนตรีก็มีมติ เรื่อง การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ขอให้คณะ กมธ. ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามอำนาจหน้าที่ ๆ กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เหมือนดังที่ได้ทำมาตลอด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการบริหารกระทรวงพม. “พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” ด้านคนพิการ ตามที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. ได้มอบไว้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 66 อีกด้วย
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดหรือมุมมองว่าในเรื่องของสภาที่ดีที่สุด คือ เป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีโอกาสของทุกคนไม่ว่าจะมีความแตกต่างแบบใด ประการใด สามารถสื่อสารถึงประเด็นปัญหาหรือความต้องการได้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของล่ามภาษา อักษรเบรล หรือแม้กระทั่งในอนาคตหากมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาในการสื่อสารเป็นการเฉพาะ สภาก็ต้องมีจุดหรือเปิดรับให้สามารถสื่อสารได้ การมาของพี่น้องคนพิการ 7 ประเภท สามารถเดินทางมาได้ดีกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะแต่เดิมแม้กระทั่งที่จอดรถคนพิการหรือช่องทางที่จะเดินมาถึงจุดที่ยื่นหนังสือก็มีความยากลำบาก สภาจึงต้องสามารถโอบรับกับทุก ๆ ความแตกต่างหรือความหลากหลายได้ สำหรับกฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ ที่เปิดช่องให้คนพิการอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี แต่ปรากฏว่าภาครัฐกลับกลายเป็นหน่วยงานที่ละเลยต่อการปฏิบัติดังกล่าว แม้กระทั่งประเด็นเรื่องของการจ้างงานที่รัฐให้เอกชนจ้างงานคนพิการ แต่รัฐยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือสิ่งที่ตนเองออกได้ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จึงคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วน ซึ่งในวิสัยทัศน์ของนายปดิพัทธิ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ก็ได้เคยพูดเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
ส่วนประเด็นเงินกองทุนฯ ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากกรณี ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ จึงอุดหนุนเงินเข้ากองทุนฯ แทนแต่ปรากฏว่าเงินดังกล่าว ไม่สามารถเอาไปใช้กับคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบหรือพื้นที่ต่างจังหวัดต่าง ๆ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นนี้คณะ กมธ.จะนำไปพิจารณาศึกษาและดูความเป็นไปได้ว่าอย่างน้อยที่สุด ต้องชะลอการเรียกเงินกลับคืนก่อน แต่ว่าจะนำไปสู่การแก้ไขมากกว่านั้นได้หรือไม่อย่างไร และในประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งพบว่าการขึ้นทะเบียนคนพิการ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดนั้น ตั้งห่างจากตัวจังหวัดมาก ยากลำบากสำหรับคนพิการในการที่จะเดินทางไป เพราะฉะนั้นกรณีไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนหรือการประชุมของคณะกรรมการในระดับจังหวัดที่จะอนุมัติเงินช่วยเหลือคนพิการ ควรมีการปลดล็อคการกระจายอำนาจของผู้คนพิการสู่ท้องถิ่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ คณะกมธ. จะนำไปพิจารณาว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้แถลงนโยบายและสัญญาประชาคมไว้ว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ดังนั้น หน้าที่ของคณะ กมธ.ในฐานะตัวแทนประชาชน ต้องมาติดตามว่าการแก้ไขดังกล่าวนั้นจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้พิการและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้พิการหรือไม่ ทั้งหมดนี้ คณะ กมธ. จะรับไปพิจารณาต่อ ซึ่งทางคณะ กมธ. ขอขอบพระคุณพร้อมให้กำลังใจ และชื่นชม น้อมรับสิ่งที่ยังเป็นข้อบกพร่องในการบริหารจัดการให้กับผู้พิการ เพราะเรื่องดังกล่าวมิใช่เรื่องสวัสดิการแต่เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุก ๆ คน