ฮ่องกงพัฒนาเข็มขัด GUIDi ช่วยนำทางผู้พิการทางสายตา
ต่อไปนี้ไม้เท้านำทางอาจไม่ใช่อุปกรณ์เดียวสำหรับผู้พิการทางสายตาอีกต่อไป เพราะสตาร์ตอัปจากฮ่องกง ได้พัฒนาเข็มขัดไกดิ (GUIDi) เทคโนโลยีใหม่ในรูปแบบเข็มขัดคาดเอว ซึ่งจะนำทางผู้ใช้ด้วยระบบสั่นและเสียงกริ่ง
เข็มขัดอัจฉริยะนี้ผลิตโดยบริษัทสัญชาติฮ่องกงอย่าง เอไอ ไกด์ (AI Guided) ลักษณะภายนอกก็จะเป็นเข็มขัดทำจากไนลอนยาว 29 เซนติเมตร หนัก 560 กรัม ด้านหน้ามีกล้อง 2 ตัวที่จะคอยตรวจจับภาพด้านหน้า ซึ่งทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ไลดาร์ (LiDAR) หรือเรดาร์ (RADAR) อีกทั้งยังใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลด้วย
ส่วนด้านหลังจะเป็นโมดูลไมโครโปรเซสเซอร์และโมดูลอิเล็กทรอนิกส์ในการคำนวณผลต่าง ๆ บริเวณด้านข้างจะมีเครื่องตอบสนองระบบสัมผัส 2 เครื่องติดตั้งอยู่ มีอักษรเบรลล์เพื่อบอกปุ่มเปิดปิดและบอกทิศทางซ้ายขวา เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้พิการทางสายตา ทำงานด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม สามารถใช้งานได้นาน 8 - 10 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อ GPS และสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi) ได้เพื่อคำนวณและเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนผ่านบลูทูธได้ แต่หากไม่ได้เชื่อมต่อกับอะไรเลย ตัวเข็มขัดก็ยังสามารถนำทางได้อย่างปกติ
การทำงานของเข็มขัดคือเมื่อผู้ที่สวมเดิน กล้องขนาด 8 ล้านพิกเซล 2 ตัวจะสแกนสภาพแวดล้อมโดยรอบเพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวาง ระบบประมวลผลก็จะคำนวณหาเส้นทางเดินที่เหมาะให้แบบเรียลไทม์ จากนั้นเครื่องตอบสนองระบบสัมผัสก็จะสั่นแจ้งเตือนว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ทิศทางไหนบ้าง และนำทางผู้ใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เทคโนโลยีนี้สามารถนำทางได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
บริษัทอ้างว่าเข็มขัดไกดิ ตรวจจับสภาพแวดล้อมได้ไกลถึง 5 เมตร ซึ่งไม้เท้านำทางทั่วไปจะทำได้เฉลี่ย 0.73 เมตร นั่นเท่ากับกว่าเข็มขัดไกดิตรวจจับได้ไกลกว่าถึง 7 เท่า อีกทั้งยังสามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางอย่างกิ่งไม้ที่ยื่นมาขวางบริเวณด้านบน ซึ่งไม้เท้านำทางอาจตรวจจับไม่ได้ เนื่องจากผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่ จะใช้เพื่อตรวจจับสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นด้านล่างเท่านั้น
ปัจจุบัน ไกดิยังไม่ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ผู้พิการทางสายตา หรือผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะได้ใช้เข็มขัดไกดิ สามารถสอบถามไปยังเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อขอทดลองใช้งานได้ฟรี