พ่อพิการนอนดมสารเคมีโรงงาน เสียงดังทั้งวัน ร้องหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา
ชาวหนองกลางดง ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ร้องหน่วยงานตรวจสอบโรงงานรีไซเคิล หลังสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบเบื้องต้นพบไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเตรียมสั่งระงับชั่วคราว
วันที่ 20 ธ.ค. 66 ชาวหนองกลางดง ม.9 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคามจ.ฉะเชิงเทรา รวมตัวกันร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่หลังการประกอบกิจการของโรงงานส่งเสียงดัง และสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
วิมล แซ่แต้ ชาวหนองกลางดง บอกว่าบ้านของตนเองอยู่ติดกับโรงงานอุตสาหกรรม ได้กลิ่นเหม็นแสบจมูกเหมือนสารเคมีบางอย่าง กลิ่นมาเป็นระยะ ๆ แต่ละวันกลิ่นไม่เหมือนกัน รวมถึงมีอาการคันตามผิวหนังเมื่อสัมผัสอากาศช่วงที่โรงงานปล่อยฝุ่นออกมา
เช่นเดียวกับ อารีย์ เฉลิมพลโยธิน บ้านอยู่ตรงข้ามโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่า เธอจะคันตามผิวหนังหากสัมผัสอากาศในช่วงที่ฝุ่นหนาๆจากโรงงานอุตสาหกรรม อาบน้ำก็จะดีขึ้น
“เมื่อก่อนฝุ่นหนามากเพราะบ้านป้าอยู่ตรงข้ามไม่มีอะไรมาบังเลย พอหลัง ๆ ต้นไม้เริ่มสูง ลมเปลี่ยนทิศก็ดีขึ้นหน่อย แต่ช่วงอากาศร้อน ๆ เหงื่อออกจะคันตามผิวหนัง เคยโทรไปบอกโรงงาน เขาก็บอกว่าจะช่วยฉีดน้ำให้ ไม่อันตราย แต่ห่วงลูกสาว เขาป่วยทางเดินหายใจ เวลามีฝุ่นก็ต้องอยู่ในห้องแอร์ตลอด แต่คนเราก็อยากจะออกมาสูดอากาศข้างนอกบ้าง แต่อากาศข้างนอกก็เป็นแบบนี้”
กัญญาณัฐ พึ่งเกษม หนึ่งในครอบครัวที่อยู่ติดกับโรงงานมากที่สุดครอบครัวหนึ่งบอกว่า โรงงานแห่งนี้ตั้งมาเกือบ 5 ปี แต่ไม่เคยมีปัญหา จนกระทั่งในช่วง 4-5 เดือน ที่ผ่านมา เริ่มจากเสียงดังตลอดทั้งวัน กลิ่นเหม็น และแหล่งน้ำใช้เริ่มเสีย ซึ่งในชุมชนไม่มีน้ำประปา ต้องดึงน้ำจากสระมาพักไว้และจ่ายไปให้กับ15 ครอบครัว แต่ตอนนี้เราต้องหยุดใช้แล้วเพราะน้ำไม่ปลอดภัย
“ฝุ่นที่ปล่อยออกมาจะเป็นละอองดำ ๆ ตกลงแหล่งน้ำเกาะที่ผิวน้ำ หน้าฝนจะเป็นฟอง น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียว เราเห็นเลยไม่กล้าใช้ เดือดร้อนมากเพราะชาวบ้านไม่มีน้ำประปา ต้องไปขอที่ อบต.ให้มาส่งน้ำให้ อยากให้โรงงานเห็นใจชาวบ้านและปรับปรุงมีสำนึกในการประกอบกิจการ เพราะเราอยู่กันมาก่อนเป็นสามสิบกว่าปี เงียบสงบ ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเจอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบนี้ พ่อเราก็อายุมากแล้วพิการด้วยไปไหนมาไหนลำบาก อยู่บ้านทั้งวันก็กังวลสุขภาพเหมือนกันเพราะเวลาเหม็น ๆ เขาต้องดมกลิ่นทั้งวัน”
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน พวกเขาได้รวมตัวกันและร้องเรียนไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และโรงงานยังคงประกอบกิจการและส่งผลกระทบต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่19 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าตรวจสอบโรงงาน ได้แก่ รองปลัดอบต.เขาหินซ้อน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉะเชิงเทรา อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา สาธารณสุขอำเภอพนมสารคาม สถานีตำรวจภูธรเขาหินซ้อน และมูลนิธิบูรณนิเวศ
ดาวัลย์ จันทรหัสดี ที่ปรึกษาชุมชน และเจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณนิเวศ หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมตรวจสอบบอกว่า โรงงานแห่งนี้ยังไม่ชัดเจนในการประกอบกิจการ แต่เท่าที่สังเกตจากวัตถุดิบที่พบภายในอาคาร ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก คือ ตะกรันจากเตาหลอมเหล็กเสียงดังที่ชาวบ้านได้ยิน คาดว่าเกิดจากเสียงของการบดย่อยของตะกรันเหล่านี้ ซึ่งการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือใบประกอบกิจการของโรงงานได้รับใบอนุญาตหรือไม่ หากได้รับการประกอบกิจการก็ต้องตรงกับการดำเนินอยู่ ซึ่งต้องตรวจสอบให้ชัดเจนตามเอกสารอีกครั้ง
“ถ้าเป็นกากของเสียอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การขนกากอุตสาหกรรมเข้ามา ต้องมีใบอนุญาต มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 และต้องตรงกับที่ทำอยู่ด้วย อุตสาหกรรมต้องสั่งให้หยุดการดำเนินกิจการปรับปรุงลดผลกระทบกับชาวบ้านและตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน”
บันทึการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการลงพื้นที่ตามเอกสารลงวันที่19ธ.ค. ระบุว่า อบต.เขาหินซ้อนได้ตรวจสอบการประกอบกิจการของโรงงานไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากอบต.เขาหินซ้อนแต่ผู้แทนของโรงงานแจ้งว่าเคยได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเรียบร้อยแล้ว จะนำใบอนุญาตมายื่นต่อ อบต.เขาหินซ้อนภายในวันศุกร์ที่ 22 ธ.ค.นี้
ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงาน มีการประกอบกิจการนำตะกรันเหล็กจากกระบวนการบดย่อยและคัดแยกเพื่อนำเศษเหล็กกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยใช้กำลังเครื่องจักร 185 แรงม้า แต่ยังไม่รวมกำลังเครื่องจักรอื่นภายในโรงงาน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งจะได้มีการใช้คำสั่งระงับการกระทำดังกล่าวที่ฝ่าฝืนตามกฎหมายต่อไป