รองเลขาฯ นายกฯ หารือ นิกร-ทีม พม. เดินหน้า ปรับปรุงกฎหมาย แก้ปัญหาสังคม-ช่วยกลุ่มเปราะบาง
วันนี้ (16 ต.ค.67) ที่ กระทรวง พม. นางสาวธีราภา ไพโรหกุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะ พบปะเยี่ยมเยียน พร้อมหารือร่วมกับ นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เข้าร่วมพูดคุย
นายนิกร เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนกฎหมายในภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประกอบด้วย 1) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ฉบับปรับปรุง 2) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ฉบับปรับปรุง ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้า ครม. ภายในเดือนตุลาคมนี้ 3) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ฉบับปรับปรุง ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้า ครม. ภายในเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน 4) การยกเลิกพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ฉบับเดิม และเสนอฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้า ครม. ภายในปี 2567 และ 5) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ฉบับปรับปรุง
นายนิกร กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือในประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านสังคม ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้แถลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา อาทิ 1.ด้านข้อมูล จะดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ปลอดภัย และเป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลร่วมกัน ภายใต้แนวทางฐานข้อมูล พม.ดิจิทัล ภายในปีงบประมาณ 2568 อีกทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย
2.ด้านเด็ก จะดำเนินการยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพและขยายให้ครอบคลุมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ การสร้างความมั่นคงในระบบเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด อีกทั้งการส่งเสริมศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน
3.ด้านคนพิการ จะดำเนินการขยายความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) , กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้คนพิการ โดยใช้เงินกองทุนคนพิการ พร้อมส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจ้างงานคนพิการให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด การสนับสนุนล่ามภาษามือทุกจังหวัด และการจับมือกับภาคธุรกิจเอกชนในการปรับสภาพการขนส่งสาธารณะ โดยเครื่องบิน รถไฟ และรถบัส ให้คนพิการสามารถใช้งานได้ (Friendly design)
4.ด้านผู้สูงอายุ จะดำเนินการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ อาทิ การนำผู้สูงอายุมาฝึกอบรมให้เป็นผู้ดูแลเด็ก โดยความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ การผลักดันให้เกิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้ได้ใช้ชีวิตแบบสูงวัยอย่างมีคุณภาพ (Active aging) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และการขยายโครงการ “นักบริบาลและพิทักษ์สิทธิ์ผู้สูงอายุ” ให้สอดคล้องกับนโยบายอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง(Care giver)ของกระทรวงสาธารณสุข
5.ด้านผู้ยากไร้ จะดำเนินการเพิ่ม ความสามารถในการปรับตัว(Adaptive capacity) ของคนกลุ่มเปราะบางต่อวิกฤตภัยธรรมชาติ อาทิ การปรับสภาพที่อยู่อาศัย โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. การขับเคลื่อนโครงการ “นิคมสร้างตนเอง” การสื่อสารและสร้างทัศนคติในการหยุดให้ทานแก่ขอทาน โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) การเพิ่มที่อยู่อาศัย ห้องเช่าในราคาที่จับต้องได้ โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.)
ขอบคุณ... https://thainews.prd.go.th/thainews/news/view/634074/?bid=1