สิทธิผู้พิการ เรียน-ทำงาน ผู้พิการไปได้แค่ไหน?

สิทธิผู้พิการ เรียน-ทำงาน ผู้พิการไปได้แค่ไหน?

เคยไหมที่เวลาเจอคนพิการแล้วเกิดภาพจำหรือตัดสินไปก่อนว่า พวกเขาไม่มีความสามารถ ทำงานไม่ได้ หรือบางครั้งผู้ปกครองหรือคนรอบตัวผู้พิการเองก็มีความคิดนี้ แล้วผู้พิการจะไปได้ไกลแค่ไหน? กับการเรียนรู้ และการทำงานในสังคมไทย

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ คุณพ่อที่มีลูกเป็นออทิสติก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งปัจจุบันเป็น เลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และผู้มีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงสิทธิการศึกษา และการทำงานของผู้พิการว่าไปได้แค่ไหน?

“คนพิการทุกคนที่อยากเรียน ต้องได้เรียน ถ้าคนพิการไม่มีการศึกษา พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่เราผลักดันกันมา ก็ไม่มีผล ก็ไม่มีผล เพราะว่าไม่มีวุฒิก็ไปทำงานไม่ได้”

ชูศักดิ์ กล่าวว่า “ข้อจำกัดอันหนึ่งคือคนพิการไม่มีวุฒิ จบแค่ม.6 บางคนจบม.3 แต่ถ้าเกิดคนพิการจบปริญญา ค่าแรงก็จะสูงขึ้น คนพิการจบปริญญาตรีปีแค่ 2,000 คน จบประกาศนียบัตร 50,000 กว่าคน จบม.6 ประมาณ 30,000 กว่าคน จบประถมศึกษา 4,000 กว่าคน อันนี้คือปัญหาใหญ่ของประเทศเลยนะ เป็นที่มาของการยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ว่า ถ้าเราไม่ยกระดับพรบ.การศึกษาคนพิการ จากพรบ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นแค่รับประกันและรับรองสิทธิคนพิการ ตามมาตรา 10 ระบุว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ แต่วิธีการในการปฏิบัติให้เกิดการเรียนยังไม่มีระบบมารองรับ”

ชูศักดิ์ กล่าวว่า “เราปรับส่วนโครงสร้างคือ ให้มีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปัจจุบันมีการประชุมกันอยู่ สามเดือนครั้ง เราก็พิจารณาแผนพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ทุกสามถึงห้าปีของกระทวง พอมีแผนจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมาทำเรื่องนี้ เพราะมีกฎหมายบังคับ ส่วนของจังหวัด เราเน้นเรื่องการเรียนร่วม (Inclusive Education) คือเด็กพิการไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปในโรงเรียน แล้วก็มีระบบ Support Service ให้ แล้วเด็กคนไหนเรียนไม่ได้เต็มเวลา ก็มีเรียนบางเวลาได้ จากก่อนหน้านี้มีเด็กพิการได้เรียน 40,000 กว่าคน พอมีพรบ เด็กพิการได้เรียน 200,000 กว่าคน

ตอนแรกไม่มีโรงเรียนเรียนเลย ก็เริ่มมีโรงเรียนสมัครเข้าโครงการเรียนร่วม เป็น 10,000 โรงเรียน เด็กพิการได้เรียนใกล้บ้าน มีโรงเรียนเฉพาะความพิการ 49 โรงเรียน ใน 38 จังหวัด คือบกพร่องทางสติปัญญา 20 โรงเรียน, บกพร่องทางการได้ยิน 21 โรงเรียน, บกพร่องทางการเห็น 2 โรงเรียน, บกพร่องทางร่างกาย 6 โรงเรียน ซึ่งพอเป็นโรงเรียนประจำก็เกิดผลเสียนะ ผู้ปกครองให้ลูกไปอยู่ 12 ปี กลับมาบ้าน พ่อแม่ไม่รู้จักลูก กลับมาบ้านแล้ววุ่นวายอย่างนี้ ไปอยู่นอกบ้านดีกว่า กลายเป็นปัญหาสังคมอีกแบบ

ตอนนี้ผมกำลังผลักดันเรื่องการศึกษาทางเลือก มี 2 ระบบ ก็คือระบบเตรียมความพร้อมคนพิการเข้าสู่การทำงานและระบบผู้สอนงาน มูลนิธิออทิสติกไทยเรามีหมดเลยนะ เพราะว่าเราไปทำ MOU ไว้กับออสเตรเลีย กับฮ่องกง ปั้นจน 100 คน ได้ทำงานจริง คัดกรองเด็กว่าไปอาชีพพนักงานได้ คนนี้อาชีพราชการ คนนี้อาชีพอิสระ ทำขนมขาย ทำก๋วยเตี๋ยวขาย ทำกาแฟขาย สร้างงานศิลปะขาย ทำวิสาหกิจเพื่อสังคม เราเอาศักยภาพของคนพิการ เอามารวมกัน มีส่งประกวดแข่งขัน เด็กออทิสติก ที่เรียนกอศน.ไปแข่งกับเด็กสพฐด้วย”

10 ปี ที่รอคอย กว่าจะเป็น “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”

ชูศักดิ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่สนใจเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับผู้พิการ คือ “ก่อนหน้านี้มีพระราชบัญญัติการพื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 แต่ไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้พิการ พวกเราเรียกกันว่า กฎหมายเมตตาธรรม คือ ใครจะทำอะไรให้คนพิการ แค่ไหนก็ตามแต่ความเมตตา เป็นความสงสาร เป็นการกุศล ผมเองก็มีลูกเป็นออทิสติก เห็นว่าน่าจะมีสิทธิเกี่ยวกับชีวิตผู้พิการ ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของการทำการกุศล”

ย้อนกลับไปช่วงปี 2540 -2542 มีแนวคิดเรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ Convention on the Rights of the Persons with Disabilities (CRPD) ที่ประเทศญี่ปุ่น มีเรื่องคุณภาพชีวิตคนพิการ มีกรอบการปฏิบัติงานแห่งสหัสวรรษจากทะเลสาบบิวาสู่สังคมบูรณาการปลอดจากอุปสรรคและตั้งอยู่บนฐานของสิทธิสําหรับคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2536-2545 (Biwako Millennium Framework for an inclusive society in the Asian and Pacific Decade of Disabled Persons, 2003-2012) เพื่อทำสิทธิให้เป็นจริง หรือ "Make the Right Real" ในปี 2556- 2565 โดยได้มีความร่วมมือกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกว่า 30 ประเทศ

ชูศักดิ์ กล่าวว่า “ประเทศไทยเราก็นำมาพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติงาน ปรับปรุงระเบียบตามสภาพที่มีอยู่ เพราะกฏหมายคนพิการสมัยก่อนเขียนเอาไว้กว้างมากๆ จึงได้มาทำเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ใช้เวลา 10 ปี ประกาศใช้ พ.ศ. 2550 ได้รับการขนานนามว่า เป็น CRPD ของเมืองไทย และ องค์การสหประชาชาติ ให้รางวัลแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ อวอร์ด ระดับโลก ที่ประเทศไทย เป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด 5 ประเทศ ที่มีกฎหมายคนพิการที่มีคุณภาพสูง“

โดยพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในส่วนของโครงสร้าง มีการปรับให้มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจําจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องในช่วงนั้น 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม ซึ่งเกี่ยวกับการเรียน สุขภาพ การเดินทาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้พิการ

ส่วนที่สอง “กองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” เพื่อเป็นทุนสําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการ การส่งเสริมและการดําเนินงานด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ การฟื้นฟู สมรรถภาพคนพิการ การศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุน การดําเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และส่วนที่สาม หมวดการจ้างงานคนพิการ มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 (จ้าง, จ่าย, จัด)

มาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทํางานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกําหนดจํานวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถาน ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทํางาน

มาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทํางาน ตามจํานวนที่กําหนดตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 24 (5) ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกําหนดจํานวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องส่ง

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่ง แต่มิได้ส่ง ส่งล่าช้าหรือส่งเงินไม่ครบถ้วน ให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจํานวนเงิน ที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุน

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทํางานหรือส่งเงินเข้า กองทุนตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเป็นร้อยละของจํานวนเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการหรือเงินที่ส่งเข้ากองทุน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกําหนด

มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทํางานตาม มาตรา ๓๓ หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทํางานตามมาตรา ๓๓ และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา ๓๔ หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถาน ประกอบการนั้นอาจให้สัมปทานจัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้าง เหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวก ล่ามภาษามือ สามหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้

ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ในส่วนของการจ้างงาน 10 ปีที่ผ่านมา นายจ้าง สถานประกอบการต่างๆตื่นตัว มีการจ้างงานคนพิการหรือส่งเงินมากขึ้น แต่หน่วยงานราชการเพิ่งจ้างงานคนพิการได้ 3,300 คน จากที่ต้องจ้าง 18,577 คน โดยสาเหตุที่ภาครัฐที่ไม่จ้างคนพิการ เพราะขาด 3 อย่าง

1.ไม่มีเงิน

2. ไม่มีตำแหน่ง

3. งานที่คนพิการทำ ไม่รู้จะทำอะไรได้

ในเรื่องกฎหมาย จ้างงานคนพิการภาครัฐ เริ่มจะดีขึ้นแล้ว เพราะกพ. และก.พ.ร.เข้ามาช่วย อยู่ที่หน่วยงานจะจ้างหรือไม่ ซึ่งถ้ากระทรวงไหนยังไม่จ้าง ปีหน้าเราจะทำประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศชื่อกระทรวงไหน ยังไม่จ้างคนพิการกี่คน

เรื่องหน่วยงานรัฐไม่มีตำแหน่ง ผมเริ่มทำกับกรุงเทพมหานคร เปิดตำแหน่งงานให้คนพิการสมัครกันเอง โดยไม่ต้องแข่งกับคนทั่วไป เคยมีเด็กพิการคนหนึ่ง ไปทำงานที่โรงพยาบาล เขาเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ คอยดูแลคนป่วย พาคนไข้มาลงทะเบียน พาไปทำบัตรคิว ทำหน้าที่ได้ดีมาก ตามเวรตามเวลา ผมขอให้เขาทำตำแหน่งเฉพาะ และเรื่องการกำหนดความก้าวหน้าของงาน เราบอกว่า อย่าจ้างคนพิการ แค่กฎหมายแรงงานขั้นต่ำ ต่ำสุดของประเทศ ไม่ถึง 300 นะ 284 บาท แล้วคูณ 365 วัน เอาจังหวัดพะเยามาเป็นฐาน ปีที่แล้วนะ แต่ปีนี้ไม่ยอมแล้ว ผมขอว่าจ้างตามสมรรถนะได้ไหม ถ้าเขาทำได้ คุณก็ต้องให้เงินตามสมรรถนะ ผมไปติดต่อกับบริษัทเอกชน ลองทำสามเดือน จนวันนี้ เขาให้เท่าคนทั่วไป น้องคนทั่วไปได้ 12,000 ได้ 15,000 เด็กพิการก็ได้เท่ากัน อันนี้คือจ้างตามสมรรถนะ”

วันนี้คนตาบอดเป็นดร. คนพิการทางกายเป็นอาจารย์ นี่คือเราสร้างความรู้ขนาดใหญ่ให้เขา แล้วเราพยายามให้พื้นที่เขาในสังคม คนพิการได้เรียนมหาวิทยาลัย ปีหนึ่งได้เรียน 200 คน ไม่มีทุนเรียน เราก็เลยไปทำระบบให้คนพิการเรียนตั้งแต่ประถมจนถึงปริญญาตรี จนปีนี้มี 4,600 คน จะเห็นว่านโยบายจากผู้บริหารระดับประเทศ มีความสำคัญมาก เพราะจะเปลี่ยนความคิดของผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครูไปตามลำดับ”

ชูศักดิ์ พูดถึงศักยภาพของผู้พิการว่า “จากตอนแรกมีพ่อแม่หลายคนคิดจะพาลูกจากโลกนี้ไป ตั้งแต่นาทีแรกที่ลูกเกิดมาเป็นคนพิการ ผมพบว่ากำลังใจแรกที่สุดคือพ่อแม่ คนที่ให้คำปรึกษากับเด็กพิการ จะต้องเข้าใจในการให้กำลังใจเขา ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกเข้าไปช่วยเยอะมาก เด็กถูกละเมิด เด็กถูกทำร้าย เด็กไม่มีที่เรียน พ่อแม่เครียดนะ เราเข้าไปคุยด้วย ช่วยกัน เรามีเด็กออทิสติก 50 ตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จ น้องออทิสติกที่คนคิดว่าทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้ทำงานได้แล้ว เรียนจบปริญญา เป็นนักเปียร์โน เป็นนักระนาดเอก ทำงานโรงแรม ศิลปินอาร์ต มีเงินเดือนหลักแสน พ่อแม่หลายคนเห็นคลิปแล้ว บอกว่าอยากให้ลูกเป็นแบบนี้บ้าง พอเขาเกิดความคิดว่าอยากให้ลูกเป็นแบบนี้บ้าง เขาจะเกิดพลังที่จะช่วยเหลือลูก การทะลายกำแพงอคติเพื่อสร้างทางเดินให้เด็กสามารถเดินไปตามเส้นทางที่มันควรจะเป็นได้

สิ่งสำคัญสุดท้าย คือ It OK to be different ยอมรับในความหลากหลายและแตกต่าง เชื่อมั่นในศักยภาพในผู้พิการ พลังความร่วมมือของครอบครัว และ Make The Right Real การส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้พิการ เข้าถึงสิทธิ และบริการตามที่กฎหมายกำหนดด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจและการประสานสิทธิ”

อ้างอิงข้อมูล

• สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

• พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

• พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

ขอบคุณ... https://prachatai.com/journal/2024/10/111043

ที่มา: prachatai.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 ต.ค. 67
วันที่โพสต์: 16/10/2567 เวลา 14:26:54 ดูภาพสไลด์โชว์ สิทธิผู้พิการ เรียน-ทำงาน ผู้พิการไปได้แค่ไหน?