ยุทธศาสตร์ใหม่ จุฬาฯ เปลี่ยนสยามสแควร์ พื้นที่โชว์ความสามารถคนไทย
“Siam Square Walking Street For All” ยุทธศาสตร์ใหม่ จุฬาฯ เปลี่ยนสยามสแควร์ เป็นพื้นที่ความสามารถของคนไทย ประเดิมโชว์พลังคนพิการส่งต่อแรงบันดาลใจ
ครั้งแรกบนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) และ มูลนิธิ Five for All จัดงาน “Siam Square Walking Street For All” ให้สยามสแควร์กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มารวมพลังปิดถนนโชว์ความสามารถพิเศษรอบด้าน พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มคนพิการ และคนทั่วไปผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งดนตรี กีฬา การเต้น แฟชันโชว์ ตลอดจนงานแสดงสินค้า และบริการที่ทำโดยฝีมือคนพิการที่มาออกร้านเต็มสยามสแควร์
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Siam Square Walking Street For All เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ใหม่ของจุฬาฯ ที่อยากสรรค์สร้างพื้นที่ทุกตารางเมตรภายใต้การดูแลของจุฬาฯ และสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ให้เป็นมากกว่าแค่พื้นที่สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ยังต้องสนับสนุนจุดยืน (บทบาท) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเป็นสถาบันที่ส่งเสริมศักยภาพ ผลักดันความสามารถไม่ใช่แค่นิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงคนไทยทุกคน
โดยสยามสแควร์ เป็นพื้นที่ศักยภาพใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่เป็นทำเลทองสำหรับการจัดงานอีเวนต์ ทางสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ นำโดยรองอธิการบดี รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน และ ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี จึงตั้งใจสานต่อโปรเจคส์ Siam Square Walking Street For All ให้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นเป็นประจำ โดยจะหมุนเวียนเปิดพื้นที่สยามสแควร์ ให้กับกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่น เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเพศทางเลือกตลอดจนกลุ่มคนที่ทำงานศิลปะและวัฒนธรรม
โดยในเมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิ Five For All, สภาสังคมสงเคราะห์, มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการ รวมถึงคนพิการที่มีความสามารถพิเศษมากมายทั้งนักกีฬาเหรียญทองพาราลิมปิก วรวุฒิ แสงอำภา และสายสุนีย์ จ๊ะนะ, รวมถึงกวี สุพัง บุคลากรจุฬาฯ ที่เป็นตัวแทนของคนพิการมารับหน้าที่ถ่ายภาพบรรยากาศความสุขภายในงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
ทั้งยังเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจที่ดีไปสู่คนพิการอีกหลายคนในงาน ว่าต่อให้เราพิการทางด้านร่างกาย แต่ก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ถ้าหัวใจของเราเต็มไปด้วยพลัง
นี่คือบทพิสูจน์แรกของความสำเร็จ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ของจุฬาฯ ที่อยากเปลี่ยนสยามสแควร์ ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่สำหรับการโปรโมทความสามารถของคนไทย ที่มีความโดดเด่น หลากหลาย ให้ออกไปสู่สายตาของคนไทยทั้งประเทศ และไปสู่สายตาของชาวโลกต่อไป ดร.วิเลิศกล่าว