3 ชีวิตไร้ไฟฟ้าหลังคารั่ว กินข้าวเคล้าน้ำฝน หญิงชรา หูตาฝ้าฟางอาศัยกระท่อมไม้ผุพัง ซ้ำลูกสาว-ลูกเขยมือเท้าหงิกงอ ขอแค่มีข้าวกินไปวันๆ
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.60 ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ สนุ๊ก สะพานบุญ ได้โพสต์คลิปวิดีโอพร้อมระบุเรื่องราวของ 3 ชีวิตที่มีความเป็นอยู่ยากลำบากโดยมีหญิงชราอายุ 87 ปี อาศัยอยู่ในบ้านไม้ผุพัง พร้อมลูกเขยและลูกสาวที่พิการทั้งคู่ ซึ่งผู้โพสต์ได้ระบุว่า...#3 ชีวิตไร้ไฟฟ้า #หลังคารั่วต้องกินข้าวเคล้าน้ำฝน คุณยายวัย 87 ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ดวงตาฝ้าฟาง... หูแทบไม่ได้ยินจะนั่งจะเดิน... ก็แทบไม่ไหว ปวดเมื่อยไปทั้งตัว อาศัยในบ้านไม้ผุพัง ไม่มีไฟฟ้า อยู่กับลูกสาวและลูกเขยพิการทั้งคู่
สนุ๊ก : คุณยายอยากได้อะไรไหมคะ??
คุณยาย : อายุขนาดนี้ละ ขอแค่มีข้าวกินไปวันๆ ก็พอจะตายวันไหนก็ไม่รู้ ถ้าวันไหนฝนตก ต้องจุดตะเกียงกินข้าว หลังคาก็รั่ว นั่งเปียกกันหมด ขอให้หนูรวยๆนะ จะได้มาหายายบ่อยๆ ไม่ต้องเอาอะไรมาหรอก #หนูอยากให้คุณยายมีไฟฟ้าและหลังคาใหม่จัง คุณยายบุญเรือง อยู่กับลูกสาวและลูกเขย มือเท้าหงิกงอ พูดแทบไม่รู้เรื่อง เดินเป๋ไปมา แต่ลูกเขยสู้ชีวิตโดยรับจ้างรายวันมีงานบ้างไม่มีบ้าง นุ๊กจะลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง อยากประสานหน่วยงานเรื่องไฟฟ้า ต้องทำยังไงนะ?? และอยากดูเรื่องหลังคาให้ยายด้วยอะ เพราะมันไม่ไหวจิงๆ สงสาร 3 ชีวิตนี้จัง การได้ไฟฟ้ากับหลังคาบ้านคงเป็นการเปลี่ยนชีวิตเค้าได้ไม่น้อย #ที่อยู่ : 328 หมู่5 ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี #เบอร์โทร : 095-184-0214 (คุณเปา จิตอาสาพื้นที่)
อย่างไรก็ตามหากใครพบเจอคนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่ หรือเข้าข่ายตามข้อต่อไปนี้สามารถแจ้งไปได้ที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยทางกระทรวงฯ ได้ดูแลช่วยเหลือคนขอทาน คนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง และคนวิกลจริตตามระเบียบและกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบโดยตรงและการประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หากประชาชนพบเห็นคนขอทาน คนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง และคนวิกลจริต รวมทั้งผู้ประสบปัญหาทางสังคม ขอให้แจ้งมาที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้การอุปการะผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484 และบุคคลไร้ที่พึ่ง อายุระหว่าง 18 – 60 ปี ที่ประสบปัญหาเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
1. การสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศ โดยรับอุปการะคนไร้ที่พึ่ง 3 ประเภท คือ คนเร่ร่อน ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง คนไร้ที่พึ่ง ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และคนขอทาน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำส่งเนื่องจากกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484 โดยจัดบริการด้านปัจจัย 4 สังคมสงเคราะห์ นันทนาการ กิจกรรมบำบัด การอบรมด้านศีลธรรม ฌาปนกิจสงเคราะห์ และฝึกอาชีพ เป็นต้น สำหรับการฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์ เป็นการฝึกระเบียบวินัยสร้างทักษะการทำงานให้ผู้รับฯสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ดังนี้
- การจัดหางานให้ผู้รับการสงเคราะห์ทำภายนอก เพื่อให้ผู้รับการสงเคราะห์ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายนอกเหมือนเช่นบุคคลทั่วไป และฝึกทักษะในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง เช่น คัดแยกขยะในส่วนประกอบการ,ลูกจ้างขายของ,ขายอาหาร
- การรับงานภายนอกให้ผู้รับการสงเคราะห์ทำภายในสงเคราะห์เป็นการฝึกงานอาชีพบำบัด ช่วยให้ผู้รับการสงเคราะห์เพลิดเพลิน มีเพื่อน ใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์ และมีรายได้ของตนเอง เช่น แก้ไขเสื้อผ้า เป็นต้น
2. การดำเนินการกับคนเร่ร่อน โดยจัดส่งนักสังคมสงเคราะห์ออกเยี่ยมเยียน สอบข้อเท็จจริงบุคคลเร่ร่อนจรจัด ตามแหล่งสาธารณะต่าง ๆ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม โดยจัดให้มีบริการ ได้แก่ ให้คำแนะนำปรึกษาแหล่งบริการของรัฐ ช่วยเหลือในรูปเงิน ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HlV ส่งเสริมการฝึกอาชีพเพื่อให้มีความรู้ ทักษะ สามารถออกมาประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และรับเข้าสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กรณีที่คนเร่ร่อนนั้นไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ นอกจากนี้ยังมีบริการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น ส่งกลับภูมิลำเนา จัดที่พักคนเดินทางในเขตกรุงเทพ ฯประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับความช่วยเหลือ เช่น โรงพยาบาล จัดหางาน เป็นต้น
3. การสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและครอบครัว เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน โดยให้การสงเคราะห์ครอบครัวไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท
ขอบคุณ... http://www.tnews.co.th/contents/jd/357513 (ขนาดไฟล์: 167)