เร่งช่วยน้องปาล์มเหยื่ออุบัติเหตุพิการตลอดชีวิต
ศูนย์ช่วยเหลือปชช.ทางกฎหมาย สนง.อสส.เร่งช่วยน้องปาล์ม เหยื่ออุบัติเหตุรถกระบะ รพ.ส่งเสริมสุขภาพซึ่งตัดทำพิการตลอดชีวิต
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นางปวีณา หาทรัพย์ อายุ 30 ปี ชาว จ.ขอนแก่น อาชีพชาวนา พร้อม ด.ช.ปราบปราม หรือน้องปาล์ม เจิมขุนทด บุตรชายวัย 3 ปีเศษ ได้ เข้าพบ นายประเสริฐ กาญจนอุทัย อัยการผู้เชี่ยวชาญ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือ ฯและนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28ก.ค.58 นายเกตุ นาถมทอง อายุ 68 ปี ลูกจ้างของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ (สถานีอนามัยเดิม) ต.บ้านใหม่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ได้ขับรถยนต์กระบะ เชฟโรเล็ต ทะเบียนบว 4942 ขอนแก่น มาตามถนนแล้วเลี้ยวกลับรถกระทันหัน เป็นเหตุให้ นายศราวุฒิ เจิมขุนทด สามี ซึ่งขี่จยย.มาพร้อมกับน้องปาล์มซึ่งนั่งด้านหน้า พุ่งชนรถกระบะอย่างแรงเป็นเหตุให้สามีได้รับบาดเจ็บ ส่วนน้องปาร์ม ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนพิการตลอดชีวิต คดีนี้ศาลแขวงขอนแก่นพิพากษาจำคุกนายเกตุ 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี
ส่วนคดีแพ่ง สามีซึ่งได้รับบาดเจ็บกับน้องปาล์มและตน ในฐานะผู้เสียหายร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงสาธารณะสุขเป็นจำเลยที่1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำเลยที่2 เรียกค่าเสียหายจำนวน 5 ล้านบาท ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 10 พ.ย.60 แต่ที่ผ่านมา หลังจากยื่นฟ้องคดีแพ่ง ศาลไม่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล 1 แสนบาท แต่ให้วางค่าธรรมเนียมศาลครึ่งหนึ่ง ตนต้อง หยิบยืมเงินจากเพื่อนบ้าน จำนวน 5 หมื่นบาทมาวางค่าธรรมเนียมศาล และจ้างทนายความสู้คดีเองอีกต่างหาก จนหมดทุนสู้คดี ทั้งมีความรู้สึกเกี่ยวกับคดีว่า การที่ตนไม่ได้ฟ้องนายเกตุเข้ามาในคดีแพ่งมาตั้งแต่แรก เพื่อเชื่อมโยงรูปคดี ว่าคนขับรถที่ทำละเมิดกับกระทรวงสาธารณะสุขมีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะตัวการตัวแทน หรือเป็นนายจ้างลูกจ้าง อาจจะเสียเปรียบทางคดีได้ และไม่รู้ว่าคดีจะเป็นอย่างไรต่อไป ขณะที่บุตรชาย ต้องเข้ารักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น เนื่องจากน้องปาล์มร่างกายพิการ ยืนทรงตัวไม่ได้และมีปัญหาด้านขับถ่าย ตนเป็นคนจน แต่กลับไม่รู้สิทธิว่ารัฐมีหน่วยงานทางกฎหมายช่วยเหลือ แต่กลับไปยืมเงินชาวบ้านมาสู้คดีเอง
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง กล่าวว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุด รับไว้ประสานความช่วยเหลือดังนี้ 1. ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตนได้ประสานทางกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว เพื่อขอความช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น โดยไม่คำนึงว่ารูปคดีจะผิดหรือถูกอย่างไร เนื่องจากยังไม่เห็นสำนวน 2 .ประสานงานกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม หรือเงินอื่นๆเพราะผู้เสียหายได้รับความเสียหายจริงและศาลพิพากษาแล้วว่าฝ่ายคนขับรถยนต์เป็นฝ่ายผิด 3 .ทางคดีความ ทางศูนย์ช่วยเหลือได้สำเนาเอกสารสำนวนคดีความไว้แล้ว เพื่อศึกษากระบวนพิจารณาความแพ่งว่า ต้องเข้าไปเสริมหรือแก้ไขหรือให้คำแนะนำในจุดใด คดีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชาวบ้านยากจนอยู่แล้วไม่มีความรู้เลยว่า มีหน่วยงานรัฐพร้อมช่วยเหลือทางคดี เช่นทางอาญา เมื่ออัยการฟ้องคนขับ ฝ่ายผู้เสียหายกลับไม่เข้าเป็นโจทก์ร่วม ไม่ขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมาแต่แรก และเป็นตัวอย่างว่า เมื่อเรามีเรื่องเดือดร้อนต้องการช่วยเหลือ ให้ไปพบสำนักอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ใกล้บ้านท่านซึ่งทุกจังหวัด เพื่อไม่ให้รูปคดีเสียหายหรือคดีขาดอายุความ แม้ตกเป็นผู้ต้องหาก็มาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในทางคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพบพนักงานอัยการแล้ว น.ส.ปวีณาได้พาน้องปาล์ม บุตรชายไปร้องขอความช่วยเหลือจากนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือจากองทุนยุติธรรมต่อไป เนื่องจาก เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาซึ่งศาลมีคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว