เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"
มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเปิดบ้านยิ้มสู้นำเสนอบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการตลอด 19 ปี
ดำเนินการมากว่า 19 ปี มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ โดย ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้โอกาสดีจัดกิจกรรม “เปิดบ้านยิ้มสู้” ณ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซ.อรุณอัมรินทร์ 39 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการ พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ชวนคนไทยร่วมเปลี่ยน “ภาระ” ให้กลายเป็น “พลัง” ผ่าน “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” มุ่งสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ตั้งเป้ายกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างยั่งยืน
ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็นการทำงานใน 5 ด้านคือ โครงการบ้านเด็กยิ้มสู้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและทักษะพื้นฐานให้กับเด็กเล็กผู้พิการทุกประเภทโดยเฉพาะกลุ่มออทิสติก และบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้สามารถไปเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้, โครงการหอศิลป์ยิ้มสู้ ที่ต้องการให้สังคมไทยรับรู้ว่าผู้พิการมีความสามารถและทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้พิการ
โครงการศูนย์ถ่ายทอดและการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก (ทีทีอาร์เอส) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่สามารถพัฒนานวัตกรรมล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อช่วยให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและสื่อความหมาย สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ โดยปัจจุบันมีตู้ TTRS กระจายอยู่ทั้งหมด 180 จุดทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการสูงถึง 18,000 ครั้งต่อเดือน และยังถือว่าเป็นศูนย์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยมีล่ามภาษามือมากที่สุดถึง 36 คนคอยให้บริการ, ศูนย์บริการคนพิการ ไว้เพื่อจัดหางานให้กับคนพิการ ทำสื่อคนพิการทางการได้ยิน ลงชุมชนเยี่ยมคนพิการตามบ้าน และศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน รวมร้านกาแฟ ด้านอาหารและบริการ ศูนย์อาเซียนแม่ริม ด้านการเกษตร
ปัจจุบันคนพิการร้อยละ 39.04 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 39.28 รับจ้างทั่วไป เมื่อรวมอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไปจะมีมากถึงร้อยละ 78.32 จะเห็นได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ตามหมู่บ้าน ตำบล และชนบทต่าง ๆ และจะประกอบอาชีพการเกษตรและรับจ้างทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ามีรายได้ที่ตำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือใด ๆ ที่รัฐจัดให้ และเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้ในการก้าวสู่ปีที่ 19 ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้เขามีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน
จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน" ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามรถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี
ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ โดยปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับกว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง
ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ ให้กับผู้พิการ ดังนั้นในปี 2561 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมีเป้าหมายเปลี่ยน “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงต้นปี 2561 จะจัดกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน” (No One Left Behind) เป็นครั้งแรกของประเทศที่คนตาบอดจะปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กม. หาทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อ.เชียงดาว
ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/women/615725