ง่วงแล้วขับ แค่ 3-5 วินาที เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ “พิการ-ชีวิต”
“ง่วงแล้วขับ” ต้นตออุบัติเหตุครั้งใหญ่ เจ็บตายมาก เผยแค่ 3 - 5 วินาที ก็เกิดอุบัติเหตุใหญ่ถึงพิการ เสียชีวิตได้
สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ร่วมกับ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟอาราบัส สปีด หนุน “ง่วงไม่ขับ” ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” เผยอาการหลับในหรือง่วงแล้วขับ คือ หนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า ช่วงปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา พบอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีใหม่ 2559 ถึง 540 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 4,128 ราย เพิ่มขึ้น 623 ราย ผู้เสียชีวิต 478 ราย เพิ่มขึ้น 98 ราย หรือเพิ่ม 25.7 9% โดยครึ่งหนึ่งที่เสียชีวิตในกรณีอุบัติเหตุใหญ่เกี่ยวข้องกับการหลับใน พร้อมร่วมรณรงค์คนไทย “ง่วงไม่ขับ ไป-กลับปลอดภัย” ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สถิติข้อมูลปี 2560 จากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระบุว่าในช่วง 7 วันตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 ถึง 4 มกราคม 2560 พบว่า มีอุบัติเหตุใหญ่ 38 ครั้ง ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวมกันถึง 99 ราย คิดเป็น 1 ใน 5 ของการตายรวมในช่วง 7 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุใหญ่ปีใหม่ 2559 โดยพบว่าเกี่ยวข้องกับหลับในถึง 8 ใน 38 ครั้งที่ทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 49 ราย คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการตายในกรณีอุบัติเหตุใหญ่ง่วงแล้วขับ ซึ่งเมื่อเกิดอาการง่วงจะส่งผลให้ผู้ขับขี่มีโอกาสหลับใน (Micro Sleep) เป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
“หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจาการเร่งทำรอบของคนขับรถโดยสารสาธารณะ การทำงานแบบไม่หยุดพักมาขับรถแล้วเกิดหลับใน ได้สร้างความเสียหายทั้ง ครอบครัว ทรัพย์สินอย่างมหาศาล เพราะเวลาที่วูบหลับในเพียง 3 - 5 วินาที รถจะวิ่งโดยปราศจากการควบคุมกว่า 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่มีความเสี่ยงที่จะวิ่งไปชนประสานงานกับรถคันอื่น ต้นไม้ เด็ก หรืออุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก ดังนั้น หากง่วงนอน แนะนำว่าให้นอน โดยจอดพักเพื่องีบสัก 15 - 20 นาที อย่านานกว่านี้ เพราะสมองจะมึนไม่สดชื่น หรือดื่มกาแฟ ซึ่งมีเทคนิคคือ ให้ดื่มก่อนที่จะงีบ เนื่องจากกาแฟไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที แต่จะออกฤทธิ์ให้หลังเมื่อ 10 - 15 นาทีไปแล้ว วิธีนี้จะตื่นพอดีและสดชื่นทันก่อนออกรถอีกครั้ง” นายพรหมมินทร์ กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมถึงประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 บทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท จึงอยากให้ประชาชนผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท
นางมธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดัชมิลล์ เผยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุกับหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเทศกาลสำคัญทั้งปีใหม่ และ สงกรานต์ จะมีผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงเป็นช่วงที่มีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน โดยหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากการหลับใน ซึ่งผู้ขับขี่เองก็สามารถช่วยป้องกันได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทางแล้ว ในระหว่างขับรถ หากรู้สึกง่วงควรแวะพัก ยืดเส้นยืดสายให้ผ่อนคลายและตาสว่าง หรือ ดื่มเครื่องดื่มที่จะช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น และคลายความอ่อนล้าจากการขับรถระยะทางไกลๆ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน