เด็กไทยป่วยสมาธิสั้นเพิ่ม ชี้ไม่รักษาเสี่ยงเกเร-ติดยาง่าย
กรมสุขภาพจิต พบแนวโน้ม “เด็กสมาธิสั้น” เพิ่มขึ้น เกิดจากกรรมพันธุ์ แม่ดื่มสุรา-สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่รักษาเสี่ยงเกเรและต่อต้านสังคมมากกว่าเด็กปกติ 3 - 4 เท่า เร่งให้ความรู้ผู้ปกครองในการดูแล ชี้มีโอกาสหายขาดหากได้รับการดูแลที่ถูกต้อง
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการให้การดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็ก พฤติกรรมเด็กที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นเด็กสมาธิสั้นมากขึ้น โดยผลสำรวจล่าสุดของกรมสุขภาพจิต ปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 5.38 หรือประมาณ 2-3 คน ในห้องเรียนที่มีเด็ก 50 คน เฉพาะ จ.นครพนม โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ พบว่าปี 2560 มีเด็กสมาธิสั้น 1,655 คน เพิ่มจากปี 2558 ร้อยละ 28 ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ได้รับการดูแลเมื่อโตขึ้นเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสกลายเป็นวัยรุ่นเกเร และต่อต้านสังคมได้มากกว่าเด็กปกติ 3-4 เท่าตัว จะควบคุมอารมณ์ ความต้องการของตัวเองได้น้อย เสี่ยงถูกชักจูงให้ใช้สารเสพติดได้ง่าย
ทั้งนี้โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ มีการจัดอบรมครูและผู้ปกครอง ให้เข้าใจและสามารถดูแลเด็กสมาธิสั้นได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ http://aec.jvnkp.net/
ด้าน พญ.ปวีณา แพพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น เกิดจากกรรมพันธุ์ และพบได้ในแม่ที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นสมาธิสั้นสูง ทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่องบางส่วน มีปริมาณสารสื่อประสาทในสมองน้อยกว่าเด็กปกติ พบแสดงอาการตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ปี ในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยมี 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการขาดสมาธิ อาการหุนหันพลันแล่น และซน อยู่ไม่นิ่ง บางคนอาจจะไม่ซน แต่ขาดสมาธิ ทั้งนี้ การดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ สามารถทำให้เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อได้เช่นกัน