คณะทำงาน E6 หนุนจ้างงานผู้พิการ ผู้สูงอายุเพิ่ม 1 แสนอัตรา
“พล.อ.อนันตพร” เคาะเป้าประชารัฐเพื่อสังคม E6 ย้ำเคลื่อนงานปี 61 ตอบโจทย์ “ลดเหลื่อมล้ำ” เผยดันจ้างงานผู้สูงอายุ-พิการ รวมกว่า 1 แสนอัตรา นัดถก “สรรพากร” ทบทวนคำสั่ง หลังคลอดมาตรการสกัดเอกชนลดหย่อนภาษีจ้างงานผู้พิการ
วันที่ 30 ม.ค.60ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 1/2561 พร้อมด้วย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ในฐานะหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม โดยมีผู้แทนหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วน(5 Quick Win) ได้แก่ 1. การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ 2. การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ 3. การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4. ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย และ 5. ความปลอดภัยทางถนน
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เน้นย้ำให้คณะ E6 ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องพัฒนาทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยเฉพาะในปี 2561 ต้องเป็นการขับเคลื่อนที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ สามารถตอบได้ว่าประชาชนได้อะไร มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร มีการออมเพิ่มขึ้นหรือไม่ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงกี่เปอร์เซนต์ รวมถึงสามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“คณะทำงาน E6 เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมความร่วมมือทุกภาคส่วน ดังนั้นหากมีข้อติดขัด รัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะที่มีข้อเสนอให้ทบทวนคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 156/2561 เรื่องการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งอาจส่งผลให้การจ้างงานเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการคนพิการเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ตาม ม.35 ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นั้น ในประเด็นนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ได้มอบหมายให้หารือร่วมกับกรมสรรพากรเพื่อหาทางออก และกำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างแท้จริง” พล.อ.อนันตพร กล่าว
นอกจากนั้นได้ฝากกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและพิจารณามาตรการ และข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้การดำเนินเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย
นายอิสระ กล่าวว่า คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ทั้ง 12 คณะ ยังคงมีภารกิจที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประชุมทุกเดือนเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรค เพื่อรายงานความคืบหน้าต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบเป็นประจำทุกเดือน โดยคณะทำงานทั้ง 12 คณะได้แบ่งกลุ่มตามภารกิจออกเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Thailand 4.0) 2. กลุ่มพัฒนาคุณภาพคน 3. กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ และ 1 คณะทำงาน คือ คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งนี้แผนการดำเนินงานของคณะทำงานทั้ง 12 คณะ จะเน้นแผนที่มีผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจและสังคม และสามารถเห็นผลได้ภายใน 1 ปี
ด้าน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า คณะทำงานย่อยทั้ง 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางสำคัญในการดำเนินงานในปี 2561 ได้แก่ 1. การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ เน้นขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการ ตามมาตรา 33 และ 35 ในหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ให้ได้ 68,000 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 15,000 อัตรา ภายในปี 2561 โดยขอให้มีความชัดเจนและแก้ไขข้อติดขัดต่างๆ เพื่อให้การลดหย่อนภาษีตามมาตรา 35 เป็นการส่งเสริมในการจ้างงานคนพิการ 2. การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวม 58,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 19,000 อัตรา ในปี 2561 เพื่อลดภาระการพึ่งพิง และสร้างงานในชุมชน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องขอรับการสนับสนุน อาทิ สามารถจ้างงานผู้สูงอายุได้เกิน 15,000 บาท/เดือน และนำมาลดหย่อนภาษีได้, ผู้สูงอายุสามารถสมัครเข้ากองทุนประกันสังคม, จ่ายค่าแรงจ้างแบบไม่เต็มเวลาได้ เป็นต้น 3. การออมเพื่อการเกษียณอายุ จะเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานเนื่องจากการเกษียณอายุ
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า 4. ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม เครื่องมือสำหรับผู้สูงอายุตามภูมิภาคต่างๆ 5 ศูนย์ในปี 2561 รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการนำร่องพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องการการสนับสนุนทั้งส่วนของการจัดสรรพื้นที่ชุมชนเมืองของการเคหะแห่งชาติ และกรมธนารักษ์ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนหรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาลงทุนพัฒนาที่อยู่อายุสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง และ 5. ความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้ 55 องค์กรที่ร่วม MOU กำหนดมาตรการความปลอดภัยขององค์กร โดยตั้งเป้าการดำเนินงาน “10-5-0” ใน 3 จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ให้ได้ 10% ลดจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดปีให้ได้5% และลดจำนวนผู้เสียชีวิตในหน่วยงานที่ร่วม MOU ให้เป็น 0 นอกจากนี้ในปี 2561 จะสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมใน 3 กลุ่มภารกิจงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อขยายผลความร่วมมือในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมในทุกมิติ
"สิ่งที่สสส.ให้ความสำคัญเร่งด่วนคือเรื่องความปลอดภัยทางถนนเมืองท่องเที่ยวภาคตะวันออกซึ่งจากการสำรวจพบปัญหาอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็ว เมาแล้วขับรวมถึงจุดเสี่ยงต่างๆทั้งจุดเก่าและจุดใหม่ประมาณ10จุดใหญ่ๆที่ต้องเร่งแก้ไข"ดร.สุปรีดา กล่าว