เปิดแนวทางดำเนินการ กรณีงบ ‘เทศบาล’ ไม่พอจ่าย ‘เงินผู้สูงอายุ-คนพิการ’
กรมบัญชีกลาง ส่งหนังสือด่วน แจ้งแนวทางดำเนินการ กรณีเงินงบประมาณของ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ ไม่เพียงพอต่อเบิกจ่าย “เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ – เงินเบี้ยความพิการ”
นายกุลเศขร์ ลิมปิยากร รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมบัญชีกลาง ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดเรื่อง “แนวทางในการดำเนินการ กรณีเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ” ส่งถึงนายกเทศมนตรี นายกเทศมนตรีเมือง และนายกเทศมนตรีตำบล ลงวันที่ 15 ก.ค. 2568
สำหรับสาระสำคัญของหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพและเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม โดยกำหนดให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่ในการจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการในคนพิการ ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน นั้น
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า
1. สำนักงบประมาณ ได้กำหนดให้ อปท. ที่เคยรับงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรงแล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 - ปัจจุบัน ประกอบด้วย เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล รวมจำนวน 2,472 แห่ง
2. สำนักงบประมาณ จะทำการจัดสรรงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับสนับสนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพคนพิการปีละ 2 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 สำหรับเดือน ต.ค. - มี.ค. โดยจัดสรรให้ในเดือน ต.ค. และงวดที่ 2 สำหรับเดือน เม.ย. - ก.ย. โดยจัดสรรให้ในเดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังของ อปท. และเงินงบประมาณของเทศบาล พบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นมา เทศบาลหลายแห่งมีเงินงบประมาณไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการ และพบว่ามีจำนวนเทศบาลที่มีเงินงบประมาณไม่เพียงพอเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุเกิดจากการจัดทำแผนการจ่ายคลาดเคลื่อน และจำนวนผู้มีสิทธิที่เพิ่มมากขึ้น จากการจัดทำประมาณการล่วงหน้า 1 ปีและการย้ายภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ
3. ปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมบัญชีกลางประสานงานกับเทศบาลโดยตรง เพื่อให้จัดทำหนังสือแจ้งสำนักงบประมาณ ขอให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หรือจัดทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณตามอำนาจหน้าที่จากงบประมาณอื่นมาเพิ่ม ซึ่งพบว่าหนังสือและเอกสารการขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณมีจำนวนมากและบางส่วนไม่ถูกต้อง จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการประสานงานกับเทศบาลเพื่อขอแก้ไข
4. เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และคล่องตัว จึงขอให้ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ ตรวจสอบและจัดหางบประมาณให้มีความเพียงพอในระบบ New GFMIS Thai ภายในวันที่ 3 ของเดือน เพื่อให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตรวจสอบและเบิกเงินภายในวันที่ 5 ของเดือน
ส่วนในกรณีพบว่ามีเงินงบประมาณไม่เพียงพอ ขอให้ดำเนินการ คือ ขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักงบประมาณ หรือขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ โดยกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการปรับปรุงระบบ New GFMIS Thai เพื่อให้ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ สามารถโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณในระบบ NEW GFMIS Thai
อย่างไรก็ตาม การขอโอนเปลี่ยนแปลงจากงบประมาณดังกล่าว มีเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่ 1. การโอนเปลี่ยนแปลงจากงบบประมาณอื่น มาเพิ่มในงบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเบี้ยความพิการ (โอนเข้า) ให้ดำเนินการในระบบ New GFMIS Thai ได้เอง โดยไม่ต้องทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง
2. การโอนเปลี่ยนแปลงจากงบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเบี้ยความพิการ ไปให้งบประมาณอื่น หรือเปลี่ยนแปลงจากงบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปให้เบี้ยความพิการไปให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (โอนออก) ให้สำนักงานคลังจังหวัดดำเนินการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องในระบบ New GFMIS Thai ก่อนทุกครั้ง
อนึ่ง กรมบัญชีกลางได้จัดทำแนวปฏิบัติในการตรวจสอบงบประมาณเพื่อการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการในระบบ NEW GFMIS Thai สำหรับ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป โดยคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ไฟล์แนบด้านล่าง