ภาพยนตร์รอบพิเศษ “น้อง.พี่.ที่รัก จนอยากจะ..พรรณนา” เพื่อผู้มีความบกพร่องทางการเห็น

ภาพยนตร์รอบพิเศษ “น้อง.พี่.ที่รัก จนอยากจะ..พรรณนา” เพื่อผู้มีความบกพร่องทางการเห็น รับชมผ่านแอปพลิเคชั่น “พรรณนา (PANNANA)”

เอส เอฟ จับมือ จีดีเอช กล่องดินสอ และ สสส. จัดภาพยนตร์รอบพิเศษ “น้อง.พี่.ที่รัก จนอยากจะ..พรรณนา” เพื่อผู้มีความบกพร่องทางการเห็น รับชมผ่านแอปพลิเคชั่น “พรรณนา (PANNANA)”

บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด, บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการเห็นในโปรเจ็คท์ "น้อง.พี่.ที่รัก จนอยากจะ..พรรณนา" ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยรับชมผ่านแอปพลิเคชั่น "พรรณนา" (PANNANA) โปรแกรมประยุกต์เสียงบรรยายภาพสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการเห็น เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ก็สามารถเดินเข้าโรงภาพยนตร์ และสามารถชมภาพยนตร์ด้วยการเสียบหูฟัง เพื่อฟังเสียงบรรยายภาพจากภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยแอปพลิเคชั่น พรรณนา นี้ถือเป็นแอปพลิเคชั่นชมภาพยนตร์สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการเห็นที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยภายในงานได้นักแสดงชื่อดัง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และ พรอยมน-มนสภรณ์ ชาญเฉลิม รวมทั้ง บอล-วิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ "น้อง.พี่.ที่รัก" มาร่วมกันเซอร์ไพรส์ ให้บรรดาผู้ผู้มีความบกพร่องทางการเห็นและผู้ชมทั่วไปได้มีทแอนด์กรี๊ด ชนิดที่ได้พบตัวเป็น ๆ ของบรรดานักแสดง ผู้กำกับ แบบไม่ทันตั้งตัว จึงเรียกเสียงกรี๊ดกร๊าด และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมในโรง โดยเฉพาะผู้มีความบกพร่องทางการเห็น เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงแล้วได้พบกับนักแสดงมาก่อน จึงสร้างความสนุกสนานและประทับใจให้กับผู้มีความบกพร่องทางการเห็นไปตาม ๆ กัน เรียกว่างานในวันนั้นอบอวลไปด้วยความสุขและความซึ้งใจไปตาม ๆ กัน

แอปพลิเคชั่น พรรณนา คือแอปพลิเคชั่นเสียงบรรยายภาพสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการเห็น โดยจะสามารถสร้างภาพจินตนาการจากการฟังบรรยายภาพด้วยเสียง ทำให้ผู้มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถรับชมเรื่องราวได้อย่างมีอรรถรส แอปพลิเคชั่น พรรณนา สามารถรองรับได้ทั้ง IOS และ Android โดยมีรายการสารบัญของเสียงบรรยายภาพของภาพยนตร์ เมื่อเปิดดูภาพยนตร์ และเปิดใช้งานแอปพลิเคชั่นพรรณนาพร้อมกับเปิดเอดี (เสียงบรรยาย) (AD หรือ Audio Description) ของภาพยนตร์เรื่องนั้นไปพร้อมกัน การทำงานของพรรณนาคือฟังเสียงของภาพยนตร์ที่ดำเนินอยู่ขณะนั้น เชื่อมต่อเข้ากับระบบฐานข้อมูล ค้นหาเสียงบรรยายภาพ และเริ่มเล่นเสียงบรรยายภาพ ซึ่งเป็นการใช้งานที่ง่ายดายและสะดวกเป็นอย่างมาก (หากระหว่างชมภาพยนตร์ ผู้ใช้งานลุกออกจากที่นั่ง เมื่อกลับเข้าไปในโรงภาพยนตร์ก็สามารถเปิดแอปพลิเคชั่น แล้วทำการเชื่อมต่อใหม่ ก็จะสามารถเชื่อมกับเสียงบรรยาย ณ ขณะนั้น แล้วจะสามารถรับชมภาพยนตร์ต่อเนื่องได้ทันที)

คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว ถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ทาง เอส เอฟ มีความยินดีเป็นอย่างมากในการให้การสนับสนุนการจัดทำและพัฒนาแอปพลิเคชั่น พรรณนา โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่เราได้จัดรอบพิเศษให้ผู้มีความบกพร่องทางการเห็นได้รับชมภาพยนตร์ร่วมกันกับผู้ชมทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชั่น พรรณนา เมื่อปีที่แล้วเราเปิดตัวด้วยภาพยนตร์เรื่อง "เพื่อน..ที่ระลึก" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้มีความบกพร่องทางการเห็นโครงการนี้นับเป็นหนึ่งในกิจกรรม CSR หรือกิจกรรมที่คืนกลับให้กับสังคมของบริษัท โดยเรามองว่า ผูผู้มีความบกพร่องทางการเห็นไม่ค่อยมีโอกาสมากนักที่จะเดินเข้าโรงภาพยนตร์ และสามารถรับชมภาพยนตร์ร่วมกับคนสายตาปกติ แอปพลิเคชั่นนี้จะสามารถทำให้ครอบครัวที่มีผู้มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถจูงมือพวกเขาเข้าโรงภาพยนตร์และรับชมภาพยนตร์ร่วมกันได้อย่างไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก ซึ่งเราดีใจที่สามารถสร้างความสุขและโอกาสที่เท่าเทียมให้กับพวกเขาเหล่านั้น"

ด้าน คุณยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดอาวุโส บริษัท จีดีเอช 559 จำกัดกล่าว ว่า"ที่ผ่านมา GDH เคยมอบความสุขให้กับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นมาแล้วจากการทำดีวีดีหลายๆ เรื่อง อาทิ แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว, พรจากฟ้า และฉลาดเกมส์โกง เป็นระบบเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) รวมถึงในปีที่แล้วภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก เองก็ได้มีโอกาสได้เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถรับชมในโรงภาพยนตร์ผ่านแอปพลิเคชั่น พรรณนา ซึ่งเรามีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนนึ่งในการสนับสนุนแอปพลิเคชั่นที่ส่งมอบความเท่าเทียมในสังคม สำหรับวันนี้เราก็ยินดีจะมอบความสุขนั้นอีกครั้งกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเรา "น้อง.พี่.ที่รัก" ที่ทุกคนจะได้ชมในวันนี้ และเรามีความตั้งใจที่จะร่วมสนับสนุนสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้ชมทุกคน"

ด้าน คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ผู้พัฒนา แอปพลิเคชั่น PANNANA พรรณนา ได้เปิดใจว่า "ทีมงานกล่องดินสอเชื่อว่าคนพิการสามารถอยู่ร่วมกับคนไม่พิการในสังคมได้หากเราปรับสิ่งแวดล้อมให้รองรับทุกคน แอปพลิเคชั่นพรรณนาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสังคม แต่ที่สำคัญกว่าเทคโนโลยีคือความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ผู้ผลิตภาพยนตร์ผลิตเสียงบรรยายภาพ โรงภาพยนตร์ออกแบบเพื่อรองรับคนพิการ ระบบขนส่งมวลชนการเดินทางที่คนพิการเข้าถึงได้ สื่อมวลชนที่ช่วยกันรณรงค์สร้างความตระหนักต่อคนพิการ ภาครัฐบาลที่ให้การสนับสนุน และภาคส่วนอื่นๆ อีกมากมาย หากเราทุกคนร่วมมือกันเหมือนในวันนี้ สังคมที่คนพิการและคนไม่พิการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขก็ไม่ไกลเกินฝัน"

อีกหนึ่งความร่วมมือ คุณคุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่า "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้การสนับสนุนโครงการ ด้วยกัน ในการสร้างสรรค์กิจกรรมทางสังคม ที่เป็นการส่งเสริมสุขภาวะที่ให้คนพิการและคนไม่พิการให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และสร้างองค์ความรู้เพื่อให้องค์กรอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งตรงกับกรอบการทำงานของสำนักที่มุ่งให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมเรื่องการดำรงชีวิตอิสระเพื่อให้สามารถสื่อสาร เดินทาง และจัดการตนเองได้

สสส.พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงของคนพิการ ตลอดจนบูรณาการงานด้านคนพิการในประเด็นสุขภาพทั้งมิติทางกาย จิต ปัญญา และสังคมตามเป้า 10 ปีที่สสส.ดำเนินการอยู่ เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติให้บรรลุผล และหวังให้เกิดเป็นความยั่งยืนต่อไป"

ผู้มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น พรรณนา (PANNANA) ได้ที่ Google Play หรือ App Store และสามารถเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง "น้อง.พี่.ที่รัก" ได้ในทุกโรงภาพยนตร์แล้ววันนี้

ขอบคุณ... https://goo.gl/yWcH96

ที่มา: thaipr.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 14 พ.ค.61
วันที่โพสต์: 15/05/2561 เวลา 10:30:52 ดูภาพสไลด์โชว์ ภาพยนตร์รอบพิเศษ “น้อง.พี่.ที่รัก จนอยากจะ..พรรณนา” เพื่อผู้มีความบกพร่องทางการเห็น