โรคอัมพฤกษ์ - อัมพาต พบแพทย์ไว ได้รับการฟื้นฟู ลดความพิการได้
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนให้ประชาชนตื่นตัวป้องกัน หากพบอาการแขน ขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มองเห็นลดลง มีปัญหาการเดิน มึนงง ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนที่สุดใน 3 ชั่วโมงครึ่ง เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอัมพฤกษ์ - อัมพาต
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก หรือ "วันหลอดเลือดสมอง" เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวตระหนักถึงความสำคัญของโรคดังกล่าว หากประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอจะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเตือนสำคัญ คือ แขน ขาอ่อนแรงซีกเดียวของร่างกาย สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง ตามองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง มีปัญหาการเดิน มึนงง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดฉับพลันให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุดภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง จะรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด สำหรับการลดความเสี่ยง ได้แก่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก งดเครื่องดื่มมึนเมา เลี่ยงสูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพประจำปี
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ การที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จำเป็นต้องรักษาหรือฟื้นฟูด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ร่างกายมีสภาพที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น สำหรับวิธีการฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตควรทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อการดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากเป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือฉับพลัน เพื่อลดความพิการหรือป้องกันความพิการให้ได้มากที่สุด สามารถใช้ชีวิตให้เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับการวินิจฉัยโรคว่าคนไข้อ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือไม่ หรือเป็นที่กล้ามเนื้อและกระดูก แพทย์จะซักประวัติและอาจเอกซเรย์สมองร่วมด้วย หากพบว่าเป็นโรคดังกล่าวจะส่งให้แพทย์ดูแลอาการให้สภาพคงที่ จากนั้นส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูเพื่อกายภาพบำบัดตามลำดับ ดังนั้นประชาชนจึงควรมีความรู้เบื้อต้นในการป้องกันการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และการทราบถึงอาการเบื้องต้นเพื่อการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา จะยิ่งมีโอกาสสูงมากในการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น เช่น การให้ยาละลายลิ่มเลือดในภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ และการดูแลที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองแตก จะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนการลดอัตราการเสียชีวิตได้