นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต 'คนพิการ'
ไทยมีคนพิการกว่า 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นปีละ 1.3 แสนคน เผยคนพิการวัยทำงานไม่มีอาชีพ 40.31% ขณะที่ภาคเอกชนไม่สามารถหาคนพิการมาทำงานที่สถานประกอบการได้
วานนี้ (9 ก.ค.) นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2561 หรือ NCPD 2018 (The 10th National Conference on Persons with Disabilities 2018) และ The 5th Ratchasuda International Conference on Disability 2018 ภายใต้หัวข้อ การขับเคลื่อนสู่สังคมยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล จัดโดยพก. พม. ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าภาพจัดงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานสถาบันการศึกษาและองค์กรเครือข่าย 18 แห่ง ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการกว่า 1,900,000 คน และเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 100,000 – 130,000 คน ดังนั้น เพื่อผลักดันให้คนพิการมีรายได้และมีงานทำสามารถพึ่งพาตนเองได้เป็นหัวใจสำคัญ และเป็นพลังในการพัฒนาประเทศชาติ จึงได้มีการกำหนด พรบ. มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในสัดส่วนที่เหมาะสมในอัตรา 100 คนต่อ คนพิการ 1 คน มาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงาน ให้ส่งเงินเข้ากองทุน และมาตรา 35 กรณีที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงาน อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิการ เป็นต้น
นายสนั่น อังอุบลกุล หัวหน้าทีมภาคเอกชนในคณะทำงานประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์คนพิการในประเทศไทย พบว่ามีชายพิการประมาณ 52.77% และหญิง 47.23% โดยแบ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 48.76% ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 18.28% ทางการเห็น 10.43% ทางจิตใจหรือพฤติกรรม 7.4% ทางสติปัญญา 6.98% ทางการเรียนรู้ 0.57%และออทิสติก 0.46% คนพิการทั่วประเทศที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ณ 30 ก.ย.60 มีจำนวน 1,820,155 คน เป็นคนพิการในวัยทำงานอายุ 15-60 ปี จำนวน 819,550 คน ประกอบด้วย คนพิการในวัยทำงานที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ 40.31% หรือ 330,339 คน คนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ 33.18%หรือ 271,916 คน คนพิการในวัยทำงานที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 26.51% หรือ 217,295 คน เอกชนไม่สามารถหาคนพิการมาทำงานที่สถานประกอบการได้ทั้งๆ ที่มีตัวเลขคนพิการเหลืออยู่ 330,339 คนในวัยทำงาน แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม การสร้างหรือฝึกอาชีพให้กับผู้พิการอย่างเหมาะสม ถือเป็นการพัฒนา คุณภาพชีวิตของผู้พิการให้สามารถพึ่งพาหนึ่งของแรงงานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ
นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าภาพจัดงานประชุม กล่าวว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทำงานวิจัยจากโจทย์ที่สำคัญของสังคม ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ การพัฒนาสมรรถนะด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกขึ้น หรือนำทักษะที่ดีกว่าของคนพิการมาวิจัย และนำไปตอบโจทย์สังคมด้านต่างๆ ทั้งนี้ การมีเครือข่ายทำให้นำงานวิจัยที่สนใจนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในองค์กรในการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ อาทิ งานด้าน Universal Design การพัฒนานักศึกษาให้เข้าใจบริบทของกลุ่มที่แตกต่างทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันระหว่างเครือข่าย หรือเป็นผู้ประกอบการที่ดีจะร่วมออกไปสร้างสังคมให้เข้มแข็งขึ้น ในมุมของผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับคนพิการได้ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับรับคนพิการเข้าทำงานหน่วยงานได้ประโยชน์อย่างไร ก่อให้เกิดงานวิจัย และการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าภาพจัดประชุม The 5th Ratchasuda International Conference on Disability 2018 กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้พิการที่มีปัญหาในบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ทั้งที่คนพิการมีศักยภาพ และหากได้ใช้ศักยภาพที่มีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสร้างชื่อเสียง นอกจากนั้น องค์การสหประชาชาติ กำหนดว่านโยบายระดับประเทศหรือนานาชาติในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับคนพิการจะต้องมีคนพิการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะรู้บริบทการดำเนินชีวิต อุปสรรคและสิ่งที่จะเกื้อกูลให้ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ มีความสุขและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยทำให้หน่วยงานหลายภาคส่วน เข้าใจบริบทการดำเนินชีวิตของคนพิการที่มีหลายประเภท หลายคนมีความสามารถและเฉลียวฉลาด ซึ่งหากมีเครื่องมือที่ช่วยเกื้อกูลให้คนพิการได้แสดงศักยภาพข้ามผ่านอุปสรรคของคนพิการได้ ทำให้คนพิการช่วยเหลือตนเองและเกิดประโยชน์กับสังคมได้ ดังนั้น การรวบรวมผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการมาแลกเปลี่ยนนวัตกรรม ความรู้ ในแต่ละเครือข่าย ลักษณะระดมความคิดเห็น สัมมนา ประชุมจะทำให้เกิดการต่อยอดความรู้ที่มีประโยชน์อย่างมาก
ทั้งนี้ ภายในงาน มีการนำเสนอนวัตกรรมเกี่ยวกับผู้พิการและผู้สูงอายุ อาทิ หุ่นยนต์ BLISS เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เด็กออทิสติก ,นวัตกรรมหัวลากไฟฟ้าสำหรับ Wheelchair เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ช่วยขึ้นทางลาดชันควบคู่การออกกำลังกายและกายภาพบำบัด ,อุปกรณ์ฟื้นฟูและอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับคนพิการจากต้นทุนความรู้สู่ภูมิปัญญาชุมชน,การออกแบบโต๊ะทำครัวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่นั่งวีลแชร์ เป็นต้น