สภากาชาดไทย เดินหน้าโครงการคลินิกเคลื่อนที่แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เดินหน้าโครงการคลินิกเคลื่อนที่แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเชิงรุก
งานส่งเสริมคุณภาพชีวิตเชิงรุก "บุรีรัมย์โมเดล" คลินิกเคลื่อนที่เต็มรูปแบบครั้งแรกเพื่อผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ สภากาชาดไทย
"บุรีรัมย์โมเดล" โครงการคลินิกเคลื่อนที่เต็มรูปแบบครั้งแรกที่ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกให้บริการค้นหา ตรวจ คัดกรอง รักษา และติดตามช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะทุกประเภทแบบครบวงจรในพื้นที่เขตอีสานใต้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ตามนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสแบบเชิงรุกของสภากาชาดไทย
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวถึง "วัตถุประสงค์ของโครงการคลินิกเคลื่อนที่ ภายใต้แนวคิด"จุฬาใส่ใจ อยู่ไกลเราไปหา" ว่าโครงการนี้เกิดจากความตั้งใจให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้มีโอกาสได้รับการตรวจรักษาอย่างทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดทอนขั้นตอนการทำเอกสารส่งตัว ลดเวลานัดพบแพทย์เฉพาะด้านในแต่ละครั้ง แก้ไขความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้งยังเป็นการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เพื่อให้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมของผู้ป่วยและครอบครัว ผู้ป่วยที่มีความพิการผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรงพบมากในต่างจังหวัด และในครอบครัวที่มีความยากจน โครงการนี้จึงเกิดขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย เป็นสื่อกลางในการรับเงินบริจาคจากภาคองค์กรต่างๆ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป นำมาใช้ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาล สาธารณสุข และภาคเอกชนต่างๆ นอกจากจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว คลินิกเคลื่อนที่มีกำหนดออกให้บริการประชาชนเพื่อขยายการรักษาและสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยจนครบทั้ง 4 ภาค"
ด้าน รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ รองหัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวถึง บุรีรัมย์โมเดลว่า "การเปิดคลินิกเคลื่อนที่ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์นั้น เป็นต้นแบบทั้งในเรื่องของโครงสร้างการให้บริการคือ ดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชา มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ประสาทศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ นักจิตวิทยา แพทย์ทางพันธุกรรม จักษุแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ นักแก้ไขการพูด ลงพื้นที่ตรวจ คัดกรอง รักษา ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่อย่างครบวงจรเพื่อจะได้ประเมินผู้ป่วยได้ครบทุกระบบ รอบคอบและวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานต่อไป บางรายไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาในกรุงเทพ เราก็สามารถช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เลย คลินิกเคลื่อนที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวที่อยู่ในชุมชน ให้เข้ามาเจอกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตัวจริงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ครบวงจร แบบเดียวกับที่รักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกระบวนการรักษาจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ไปตลอด โดยผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมของแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและครอบครัวต่อไป ดังนั้นจึงอยากให้ บุรีรัมย์โมเดล เป็นต้นแบบของทุกภาคที่คลินิกเคลื่อนที่จะเดินทางไปเปิดการรักษาเพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนมากที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจในครั้งนี้มีถึง 162 ราย ทั้งผู้ป่วยในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดในพื้นที่อีสานใต้ ความผิดปกติที่พบมากที่สุดคือ ปากแหว่งเพดานโหว่ รองลงมาคือ ใบหูพิการผิดรูป โรคท้าวแสนปม และความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกจากอุบัติเหตุ"
นางจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "สำนักงานจัดหารายได้ เป็นศูนย์กลางในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ตามภารกิจของสภากาชาดไทย การทำโครงการคลินิกเคลื่อนที่ของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนในหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ในครั้งนี้ เป็นการให้บริการทางการแพทย์ และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเชิงรุกเต็มรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น จึงอยากให้บุรีรัมย์โมเดลเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปพัฒนาให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในภาคอื่นๆ ได้ เพราะยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่และต้องการการสนับสนุนทั้งการรักษาพยาบาลและโอกาสในการกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม ดังนั้นเงินสนับสนุนโครงการคลินิกเคลื่อนที่เพื่อให้ดำเนินโครงการต่อไปตามวัตถุประสงค์จึงมีความสำคัญยิ่ง จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะในรูปแบบของเงินสนับสนุน จิตอาสา หรือภาคองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาระบบในการติดตาม ดูแล ผู้ป่วย ก็สามารถสอบถามรายละเอียดหรือร่วมบริจาคได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0 2256 4440, 0 2255 9911, 0 2251 1218 ต่อ 124 "
ขอบคุณ... https://www.thaipr.net/health/875284