เอ็นไอเอ เร่งติดเครื่อง “เมืองนวัตกรรม” เปิด 8 แพลทฟอร์มพัฒนาเมืองสุดล้ำ
เอ็นไอเอ เร่งติดเครื่อง “เมืองนวัตกรรม” เปิด 8 แพลทฟอร์มพัฒนาเมืองสุดล้ำ คาดเริ่มใช้จริงช่วงกลางปี 62
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ริเริ่มโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน หรือ City & Community Innovation Challenge ภายใต้ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อมุ่งบ่มเพาะนักนวัตกรรม สร้างสรรค์กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและชุมชน โดยยังได้เปิดโอกาสให้กับภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสนำเสนอแพลทฟอร์มการพัฒนานวัตกรรมในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับเมือง 3 รูปแบบ ได้แก่ เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ พร้อมมอบทุนสนับสนุนให้กับโครงการที่มีความเป็นไปได้ โดยในการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 8 โครงการ อาทิ โครงการนครแห่งการแปลง เศษอาหารให้กลายเป็นสวนผักกกลางเมือง Genius Eye: แอปพลิเคชั่นช่วยผู้พิการทางสายตา นวัตกรรมสวนสาธารณะลอยน้ำ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต่อยอดโครงการที่ผ่านการคัดเลือกเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปี 2562
นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในเชิงพื้นที่ตั้งแต่ระดับเมืองไปจนถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งได้มุ่งสร้างความเท่าเทียม การลดช่องว่างทางสังคม พร้อมสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ฯลฯ โดยในการสนับสนุนโยบายดังกล่าวได้เน้นให้เกิดการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนในเมืองและชุมชน ซึ่งในปี 2561 นี้ โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน หรือ City & Community Innovation Challenge 2018 จะมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมเมืองและชุมชน ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว (Greenovative City) เมืองแห่งความเท่าเทียม (Inclusive City) และเมืองนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ (Innovative Square meter)
นายคุณาวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา มูลนิธิ สมาคม วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ ได้มีโอกาสนำเสนอแพลทฟอร์มการพัฒนานวัตกรรมในระดับพื้นที่ ที่ส่งผลกระทบอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับเมือง 3 รูปแบบข้างต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์ของโครงการดังกล่าวจะได้รับทุนสนับสนุน พร้อมนำแพลทฟอร์มที่นำเสนอไปต่อยอดให้เป็นกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ มีโครงการทั้งหมด 8 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกใน 3 หัวข้อ ดังนี้
1) เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว ได้แก่ โครงการนครแห่งการแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นสวนผักกกลางเมือง ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์มาใช้เป็นวัสดุปลูกพืชบนตึก หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะขยายผลไปสู่กลุ่มพื้นที่โรงแรมและอาคารรอบอนุสาวรีย์ โรงเรียน และสำนักงานบริษัท ส่วนอีกหนึ่งโครงการคือ ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS แบบออนไลน์ เพื่อรับประกันคุณภาพเกษตรในระดับท้องถิ่น ที่เตรียมขยายผลในจังหวัดสกลนคร และอีก 30 จังหวัดที่เป็นเมืองเกษตรทั่วประเทศ
2) เมืองแห่งความเท่าเทียม มีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกคือ Genius Eye: แอปพลิเคชั่นช่วยผู้พิการทางสายตา สร้างคำอธิบายภาพที่อยู่เบื้องหน้าอย่างละเอียดด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยแพลทฟอร์มนี้จะนำไปช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในเครือข่ายสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตา และอีกหนึ่งโครงการคือTRAWELL PASS : แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชนที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวจากสถานที่ท่องเที่ยวหลักมากระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่เขตพระนคร ซึ่งอนาคตจะนำมาใช้ขยายผลในฝั่งธนบุรี ชุมชนกุฎีจีน เขตคลองสาน และชุมชนบางกระเจ้า
3) เมืองนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ โครงการที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่ "ปันจอด" ระบบการแบ่งปันที่จอดรถผ่าน IoT ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการค้นหาที่จอดรถ โดยมีวัด โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้าในการเป็นพื้นที่แบ่งปันการจอดรถรวม 4,320 คัน จะเริ่มนำร่องที่วัด โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ตามด้วยนวัตกรรมสวนสาธารณะลอยน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนเรือขนทรายมาพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะ และลานกิจกรรมลอยน้ำ โดยมีพื้นที่ตัวอย่าง อาทิ หน่วยงานราชการริมน้ำ เอเชียทีค ท่าเรือต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมี โครงการโพธิเธียเตอร์ : โรงมหรสพสร้างสรรค์เพื่อการตื่นรู้ ที่จะใช้พื้นที่ของวัดสุทธิวราราม และนำ Digital Art มาสร้างรูปแบบการถ่ายทอดพระธรรมคำสอนในพื้นที่วัดช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำกิจกรรมและจะขยายผลสู่วัดและโบสถ์ทั่วประเทศในอนาคต และโครงการธนบุรี คลองสร้างสรรค์ที่จะนำ BIG DATA มาใช้พัฒนาและฟื้นฟูคลองและชุมชนริมน้ำธนบุรี พร้อมขยายผลให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป
นายคุณาวุฒิ กล่าวปิดท้ายว่า NIA มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชนจะเป็นส่วนช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและบริบทต่างๆ ที่หลายภาคส่วนกำลังเผชิญให้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยบ่มเพาะนักคิดและนักพัฒนา ซึ่งถือป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและโลกที่จำเป็นต้องเร่งให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังเพื่อความยั่งยืนของสังคมเมืองในระยะยาว
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือfacebook.com/niathailand
เกี่ยวกับ เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว เมืองแห่งความเท่าเทียม และเมืองนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่
- เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว (Greenovative City) เป็นพื้นที่ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ การจัดการพลังงาน การจัดการขยะและของเสียที่มีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่ส่งผลกระทบกับเมืองและชุมชน
- เมืองแห่งความเท่าเทียม (Inclusive City) มุ่งเน้นให้พื้นที่เกิดการใช้เทคโนโลยีในการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม การเข้าถึงการบริการด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ ความเท่าเทียมทางเพศ การออกแบบนวัตกรรมสำหรับผู้พิการ การนำเทคโนโลยีหรือการบริหารจัดการให้เกิดความเท่าเทียมด้านการศึกษา การจัดการระบบสุขภาพ รวมถึงนวัตกรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
- เมืองนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ (Innovative Square meter) จะพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ไร้ประโยชน์ ต่อเนื่องถึงการสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ว่างเปล่าให้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และการแบ่งปันทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัดเชิงพื้นที่
ขอบคุณ... https://www.thaipr.net/it/878867