‘อุปกรณ์ช่วยสระผม’ นวัตกรรมตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย-พิการ
จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติภัย โดยในแต่ละปีมีผู้พิการถึงขั้นทุพพลภาพสูงถึง 5,000 คนต่อปี
ในกลุ่มประชากรเหล่านี้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องใช้รถเข็นหรือวีลแชร์เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาบางอย่างในการดูแลกลุ่มผู้นั่งเก้าอี้รถเข็นที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากการลื่นล้ม อาทิ การสระผมที่จะต้องลุกจากเก้าอี้รถเข็นไปนอนบนเตียงสระ
เพื่อรองรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลุ่มเยาวชนนักประดิษฐ์จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงคิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการและสามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาวะของชุมชนได้ เป็นอย่างดี จนสามารถคว้า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอาชีวศึกษาจากการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth INNO Awards ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เพื่อบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” โดยเปิดโอกาสให้กับเยาวชนที่รุ่นใหม่ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีในทุกๆ ด้าน
สำหรับ “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” ที่ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอาชีวศึกษาเป็นฝีมือการคิด ออกแบบ และพัฒนาของนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่ประกอบไปด้วยคุณัชญ์พงษ์ เชาว์แล่น, สรวิศ สิกธรรม นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 3 และ วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 1
สรวิศ สิกธรรม เล่าถึงแนวความคิดในการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า ปัญหาหนึ่งที่ประสบกับคนภายในครอบครัวตนเอง โดยมีคุณอาพิการนั่งรถเข็นน้ำหนักตัวกว่า 70 กิโลกรัม เวลาสระผมจะต้องเคลื่อนย้ายจากเก้าอี้รถเข็นไปเตียง ขณะที่ผู้ดูแลเพียงคนเดียวยกผู้ป่วยไม่ไหว การดูแลค่อนข้างลำบาก
“ในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีผู้สูงวัยมากถึงประมาณ 14.4 ล้านคนขณะเดียวกันยังมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติภัยในแต่ละปีมีผู้พิการถึงขั้นทุพพลภาพสูงถึง 5,000 คนต่อปี ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องนั่งรถเข็นยังค่อนข้างลำบากสำหรับญาติหรือผู้ดูแล ดังนั้นเพื่อรองรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการสร้างอุปกรณ์ชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุและลดความเสียงจากอุบัติเหตุซ้ำซ้อนในการเคลื่อนย้าย”
วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังถูกออกแบบให้สามารถใช้ได้กับวีลแชร์หรือรถเข็นได้ทุกขนาด สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีขนาดน้ำหนักตัวสูงถึง 120 กิโลกรัม โดยการออกแบบมอเตอร์แกนชักให้สามารถเลื่อนและเอียงทำมุม 45 องศา จึงทำให้น้ำหนักตัวรวมรถเข็นเบาขึ้นและศีรษะผู้ป่วยยังพอดีกับถาดสำหรับสระผมซึ่งออกแบบให้สามารถปรับได้ตามความสูงของผู้ป่วย ทำให้เวลาสระผมน้ำไม่ไหลย้อนกลับมาเปียกตัวผู้ป่วย”
ส่วน คุณัชญ์พงษ์ เชาว์แล่น กล่าวอีกว่า ได้ทดลองนำไปใช้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องใช้รถเข็นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางกุ้ง ผลตอบรับดีมาก
“ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการพลาดลื่นล้มในการเข้าห้องนำเพื่อสระผม รวมทั้งต้องใช้เวลาค่อนข้าง
มากจากการเคลื่อนย้ายไปแต่ละครั้ง ขอบพระคุณโครงการดีๆ จาก สสส.ที่สนับสนุนให้เด็กอาชีวะอย่างพวกเราได้มีโอกาสในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้จริง สะดวกต่อผู้ดูแล ผู้ป่วย และผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ จึงได้จัดทำโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมสายสามัญ และนักเรียนสายอาชีพ โดยมีครูและอาจารย์เป็นที่ปรึกษาเข้าร่วมในโครงการ จากโจทย์หลักคือ ความอยากที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิด นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้
ซึ่งปัจจุบันผลงานประดิษฐ์ชิ้นนี้อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร เพื่อพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในนามของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีต่อไป โดยขณะนี้มีรายการสั่งผลิตเพื่อนำไปบริการผู้ป่วยที่ใช้รถเข็นในโรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพสต.) ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วจำนวน 50 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 5,000 บาท สำหรับการพัฒนาในขั้นต่อไปจะพัฒนาให้ถาดรองน้ำมีน้ำหนักเบาขึ้น น้ำทิ้งไหลออกจากถาดสะดวกรวดเร็วขึ้น และออกแบบให้เป็นอุปกรณ์แบบพกพาพับเก็บให้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น และมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปเพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนพกพาไปยังสถานที่ต่างๆ ได้โดยง่าย
ขอบคุณ... http://www.naewna.com/lady/357951