‘บิ๊กโย่ง’ ชูโมเดล ดัน คนพิการ เข้าตลาดแรงงาน ทลายข้อจำกัด-ลดความเหลื่อมล้ำ
‘บิ๊กโย่ง’ ชูขอนแก่นโมเดล ดัน คนพิการเข้า ตลาดแรงงาน เน้นเปิดพื้นที่-ลดข้อจำกัด ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าปี 62 สร้างงาน 5.5 หมื่นอัตรา
คนพิการ – วันที่ 24 ส.ค. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เปิดเผยถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ชุมชนร่วมใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ว่า รัฐบาลร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สสส. ได้ขับเคลื่อนศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพคนพิการ (ศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์) อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายคนพิการ และพัฒนาศูนย์เรียนรู้คนพิการด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จ.ขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และภาคีเครือข่ายคนพิการ เพื่อ ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ลดข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในกระบวนการจ้างงานคนพิการ การสร้างประสิทธิภาพของกลไกการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาชีพ และการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถือเป็นการดำเนินงานที่สำคัญ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เครือข่ายคนพิการมีศักยภาพ มีอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และครอบครัว รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้มีโอกาสมีส่วนร่วม มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนพิการและคนไม่พิการผ่านการทำงาน ถือเป็นการลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกด้าน ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบงานที่สอดคล้องกับบริบทของคนพิการที่อยู่นอกเขตเมือง คนพิการที่ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานเข้าสู่การทำงานในตลาดแรงงาน ใน 3 แนวทาง คือ 1.การจ้างงานประจำในหน่วยงาน อาทิ รพ.สต., อบต., โรงเรียน, ศูนย์เด็กเล็ก 2.การจ้างงานบริการสังคม 3.การส่งเสริมอาชีพอิสระ ในกลุ่มผู้พิการรุนแรงที่ไม่สามารถเข้าสู่การทำงานในหน่วยงานได้ อาทิ การปลูกเห็ด เลี้ยงสัตว์ ผลิตสินค้ากระเป๋า งานไม้ ล้วนเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ตามสมรรถนะ และบริบทที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ ซึ่งเชื่อว่าจากโมเดลการดำเนินงานของจังหวัดขอนแก่นนี้ จะเป็นต้นแบบในการเดินหน้า และขยายผลไปสู่เป้าหมายให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ต่างๆ และสนับสนุนอาชีพคนพิการตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมาย 55,445 อัตราทั่วประเทศ ได้ภายในปี 2562 นี้
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืน คือการต่อยอดแนวคิดโครงการประชารัฐในการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง โดยเน้น การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ