เปิดโมเดลสร้างสรรค์"จ้างงานผู้พิการ"รพ.อุบลรัตน์
สสส.โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม (สำนัก9 ) มุ่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงอาชีพ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและการพึ่งพาตัวเองได้
ปัจจุบันมีคนพิการทจำนวน 1,808,524 คนหรือคิดเป็นร้อยละ2.75 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่มีคนพิการอยู่ในวัยสูงอายุจำนวน 909,582 คน คนพิการวัยทำงาน(อายุ15-60 ปี)มีจำนวน819,550 คน สามารถประกอบอาชีพได้ร้อยละ 33.18 ขณะที่มีคนพิการที่สามารถทำงานได้แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 40.31
สสส.โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม (สำนัก9 ) มุ่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงอาชีพ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและการพึ่งพาตัวเองได้ ได้ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ผ่านการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และ 35
ในพื้นที่จ.ขอนแก่น สำนัก 9 สนับสนุนเกิดพื้นที่การจ้างงานคนพิการผ่านมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ในพื้นที่อ.อุบลรัตน์ สนับสนุนให้มีระบบจัดการ ตามมาตรา33 ให้นายจ้างและเจ้าของประกอบการและหน่วยงานภาครัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราส่วนคนทำงาน 100 คนต่อคนพิการ 1 คน
โรงพยาบาลอุบลรัตน์ บริเวณตึกสงฆ์อาพาธและห้องพิเศษ โรงงานกระดาษของบริษัทเอสซีจี ได้จ้างผู้พิการ 16 คนมาช่วยทำงานทำความสะอาดตึกและพื้นที่โดยรอบ มาช่วยเหลือคนไข้ มาช่วยออกใบเสร็จให้กับมูลนิธิฯ มาบริการประชาชนทั้งตัดผมให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย นวดแผนไทย พร้อมส่งเสริมให้ผู้พิการปลูกผักปลอดสาร นำผลผลิตมาขายที่โรงพยาบาลเพื่อปรุงเป็นเมนูให้กับผู้ป่วย
นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ.โรงพยาบาลอุบลรัตน์ เล่าว่า ได้เข้าไปคัดเลือกผู้พิการโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายลงไปคัดเลือกผู้พิการในชุมชนว่าต้องการมีรายได้ประจำแล้วให้มาทดลองงานและปรับสภาพแวดล้อมให้ผู้พิการทำงานได้ ซึ่งคนพิการในพื้นที่มีกว่า1,000 กว่าคน โดยเลือกผู้พิการมีคุณสมบัติต้องขยันขยัน ซื่อสัตย์ จิตอาสา เพระเป็นงานบริการประชาชน ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้คนพิการมีรายได้เพิ่ม โดยโรงพยาบาลได้ให้จัดสรรพื้นที่ 1 ไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ นำความรู้ไปปลูกผักตามฤดูกาลเพื่อไม่ต้องใช้สารเคมี ขณะเดียวกันรพ.ได้ปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในโรงพยาบาลให้สอดคล้องกับพืชผักที่ผู้พิการปลูก ผลผลิตที่ออกมาทางโรงพยาบาลรับซื้อหมด
นพดล สัมภีระพงษ์ ผู้พิการแขนขาลีบวัย 35 ปี เล่าว่า ได้มาทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาลมีรายได้เดือนละ9,000 เศษต้ องเลี้ยงลูกวัย 10 ขวบและ 9 ขวบ อาศัยอยู่กับแม่ ส่วนภรรยาเลิกกัน ทุกสัปดาห์จะมีวันหยุด 1 วันจากบ้านเดินทางมาโรพยาบาลประมาณ 5 นาทีด้วยรถมอเตอร์ไซด์ ชีวิตุกวันมีความสุขมากเพราะมีรายได้แน่นอน แต่ก่อนอยู่บ้านเฉยๆไม่มีอาชีพ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. การทำงานเพื่อคนพิการสสส.เน้นการทำงานผ่านเครือข่ายผ่านโหนดต่างๆซึ่งขณะนี้ประมาณ 1,700 โหนด เพื่อสร้างสุขภาวะ4 มิติคือ “กาย”ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง “สังคม”สามารถพึ่งพาตัวเองได้ “เศรษฐกิจ”ส่งเสริมให้มีงานทำ “ปัญญา” สามารถเรียนรู้ มีความสุขและภูมิใจในตัวเอง
“ปัจจุบันมีการจ้างงานคนพิการประมาณ 8,600 อัตรา ซึ่งในโรงพยาบาลสามารถจ้างงานผู้พิการได้ ผ่านรูปแบบกลไกการทำงานแบบประชารัฐและเครือข่าย”
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว ระหว่างลงพื้นที่งานพํฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”ชุมชนร่วมใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการ(ศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์) อ.อุบลรัตน์ ว่า การพัฒนารูปแบบงานที่สอดคล้องกับบริบทของคนพิการที่อยู่นอกเขตเมือง คนพิการที่ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานเข้าสู่การทำงานในตลาดแรงงาน ใน 3 แนวทาง คือ 1. การจ้างงานประจำในหน่วยงาน อาทิ รพ.สต., อบต., โรงเรียน, ศูนย์เด็กเล็ก 2. การจ้างงานบริการสังคม หรือ 3. การส่งเสริมอาชีพอิสระ อาทิ การปลูกเห็ด เลี้ยงสัตว์ ผลิตสินค้ากระเป๋า งานไม้ ซึ่งโมเดลการดำเนินงานของจังหวัดขอนแก่นนี้ จะเป็นต้นแบบในการเดินหน้าและขยายผลไปสู่เป้าหมายให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ต่างๆ และสนับสนุนอาชีพคนพิการตามแนวทางประชารัฐให้ได้ตามเป้าหมาย 55,445 อัตราทั่วประเทศ ได้ภายในปี 2562 นี้
ปัจจุบันพื้นที่อ.อุบลรัตน์ ถือเป็นต้นแบบอำเภอที่ช่วยผู้พิการให้มีงานทำ ตัวอย่างการจ้างงานในรพ.ไม่เพียงแต่ทำให้ผูพิการมีรายได้จากมาตรา 35 แต่รพ.ได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9 สู่หัวใจผู้พิการ บรรลุยุทธศาสตร์ของสสส.ประการหนึ่ง คือมีปัญญา ทำให้คนพิการที่ได้ชื่อว่ากลุ่มคนจนที่สุดก้าวข้ามวลีนี้ไปได้