คนพิการร้องDSIคุ้มครอง แก๊งมาเฟียหักหัวคิวทำงาน
เครือข่ายคนพิการ ร้องดีเอสไอคุ้มครองสิทธิ์คนพิการ ถูกขบวนการมาเฟียหักหัวคิวทำงาน เสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท งัดหลักฐานโต้ พม. คนพิการมีชื่อเข้าทำงานข้ามจังหวัดถูกหักหัวคิว 2 พันบาท แต่ตัวไม่ได้ทำงาน
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ พร้อมคนพิการที่ถูกละเมิดสิทธิ์ ยื่นหนังสือต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ผ่านนายบัณฑิต สังขนันท์ ผอ.ส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ เพื่อขอให้รับกรณีดำเนินคดีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ตามมาตรา 33 เป็นคดีพิเศษ และขอให้มีการคุ้มครองพยาน
นายปรีดา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อน พวกตนต้องใช้ความพยายามในการรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อเปิดโปงให้เห็นถึงขบวนการมาเฟียคนพิการ ที่มีการละเมิดสิทธิคนพิการหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการจ้างงานตามมาตรา 33 ที่ระบุให้สถานประกอบการที่มีพนักงานในสัดส่วน 100 คน ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน หรือต้องส่งเสริมอาชีพให้คนพิการ หรือจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการ ที่ผ่านมาแม้จะมีการจ้างงานคนพิการ แต่ปรากฏว่าตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการ โดยข้อเท็จจริงพบว่าสถานประกอบการจำนวนมากจ่ายค่าหัวคิวให้กับขบวนการนี้ แต่ไม่มีคนพิการเข้าทำงานจริง หากสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานก็ควรจะจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการแทนการจ่ายค่าหัวคิว ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐที่ลงพื้นที่ตรวจสอบทราบดี แต่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องจนทำให้คนพิการถูกละเมิดสิทธิ์นับล้านคนทั่วประเทศ และมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 1,500 ล้านบาทต่อปี
“จำนวนผู้พิการทั่วประเทศมีกว่า 1 ล้านคน มีการลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมคนพิการและกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการเพื่อหางานทำจำนวน 65,000 คน ตามมาตรา 33 โดยมีการจ้างงานคนพิการ 25,000 คน แต่ได้ทำงานจริงจำนวน 20,000 คน ไม่ได้ทำงานจริง 5,000 คน คิดเป็นความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท แต่ไม่มีคนพิการเข้าร้องเรียน ส่วนการหักเงินสมทบตามมาตรา 34 ที่สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ 12,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้คิดแล้วเป็นการจ้างงานคนพิการเพียง 15,000 ราย ขณะที่มาตรา 35 เป็นเงินช่วยเหลืออื่นๆ รวมทั้งการฝึกอบรมจากสมาคมและมูลนิธิคนพิการ มีการแจ้งจำนวน 25,000 คน แต่ข้อเท็จจริงมีเพียง 15,000 คน ซึ่งรวมความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตตามมาตรา 33, 34 และ 35 รวมเป็นวงเงินมากกว่า 1,500 ล้านบาท” ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ กล่าว
นายปรีดา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแถลงข่าวว่า ไม่มีการทุจริต ตนเห็นว่า พม. แถลงข่าวเร็วเกินไปควรที่จะตรวจสอบก่อน และจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตนไม่เชื่อว่าจะไม่มีการทุจริต โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือการตรวจสอบการจ้างงานจากกรมการจัดหางานระบุว่า บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีรับคนพิการรายหนึ่งเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 59 และผู้พิการรายนี้ได้ลาออกวันที่ 29 พ.ย.59 ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าผู้พิการคนนี้ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยไม่ได้เข้าไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี แต่ได้รับเงินเดือน เดือนละ 7,000บาท ส่วนอีก 2,000 บาทถูกหักเป็นค่าหัวคิว หรือในกรณีที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีบุคคลมารับบัตรคนพิการในตำบลหนึ่งจำนวน 100 คน หลังจากนั้นได้นำบัตรพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง พร้อมเงิน 500 บาท มามอบให้เท่านั้น โดยไม่มีการทำงานจริงทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ยอมรับว่าจำนวนคนพิการที่มาร้องเรียนมีจำนวนน้อย ซึ่งที่มาร้องเรียนผ่านตนเองก็มีไม่ถึง 50 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมา และไม่ทราบสิทธิ์ของตัวเอง
“ผมได้อัพโหลดไฟล์ข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมด และคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติแล้วว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสามารถร้องเรียนผ่านสหประชาชาติได้ เนื่องจากมีสนธิสัญญาคุ้มครองคนพิการตามหลักสากล ถ้าเรื่องลุกลามบานปลายอาจจะถึงระดับนานาชาติ เพราะคนพิการมีกฎหมายคุ้มครองตามหลักสากล ดังนั้น วอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่าโทรมาข่มขู่คุกคาม แต่ขอให้กลับไปแก้ปัญหา ถ้าแก้ปัญหาอย่างจริงจังใช้เวลาไม่น่าเกินหนึ่งเดือนในการตรวจสอบ เนื่องจากรายชื่อคนพิการทั้งหมดเข้าไปอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบได้” นายปรีดา กล่าว