"บิ๊กอู๋"ยันไร้ขรก.เอี่ยวโกงเงินคนพิการ พบเสียหายกว่า 14 ล้านบาท
“บิ๊กอู๋”ยันไม่มีข้าราชการเอี่ยวโกงเงินคนพิการ พบความเสียหายกว่า 14 ล้านบาทครอบคลุมผู้พิการ 200 คน อยู่ในส่วนจ้างงานไม่ครบตามสัญญา-ยอดผู้ฝึกไม่ตรงตามแผน
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานแถลงถึงความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ตัวแทนเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีการระบุว่ามีข้าราชการในส่วนของกระทรวงแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้อง จำนวน 9 เรื่อง แบ่งออกเป็นกรณีเดิมในปี 2559-2560 จำนวน 6 เรื่อง และเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2561 จำนวน 3 เรื่อง ทางกระทรวงแรงงานจึงตั้งคณะกรรมตรวจสอบฯ มีนายนายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการตรวจสอบฯ พร้อมกำหนดกรอบเวลาไว้ 15 วันในการตรวจสอบ ซึ่งในวันนี้ (5 ต.ค.)ถือว่าครบตามระยะเวลาที่ให้ตรวจสอบแล้ว
โดย พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่นายปรีดา ได้ยื่นมายังคณะกรรมการตรวจสอบฯ จำนวน 9 เรื่องนั้น ทางคณะกรรมการตรวจสอบฯได้ลงพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจหาข้อมูลจนพบว่า มี เพียง 7 เรื่องเท่านั้นที่เจอปัญหา คือ เป็นในส่วนมาตรา 33 ที่สถานประกอบการจ้างงานแก่ผู้พิการไม่ครบตามระยะสัญญา จำนวน 2 เรื่อง และเป็นในส่วนของมาตรา 35 ที่มีการปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา อาทิ จัดอบรมไม่ครบตามระยะเวลา จำนวนผู้พิการเข้าอบรมไม่ครบตามจำนวนที่แจ้ง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมีผู้พิการได้รับผลกระทบประมาณ 200 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 14 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของภาครัฐหรือข้าราชการภายในกระทรวงแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเสียหายดังกล่าว ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่าแนวโน้มของสถานประกอบการยังคงจะใช้ มาตรา 33 และมาตรา 35 ในการส่งเสริมให้ผู้พิการมีอาชีพต่อไปเพราะถือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้พิการโดยรวม ซึ่งผู้พิการไม่ต้องกลัวว่าสถานประกอบการจะเลิกใช้มาตราดังกล่าว แล้วหันไปส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34
ด้าน นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่ามูลค่าความเสียหายไม่ถึง 1.5 พันล้านบาทตามที่นายปรีดา ได้ร้องเรียน เนื่องจากจำนวนดังกล่าวเป็นการคิดตามจำนวนเต็มของผู้พิการที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรา 33 ,34 และ 35 ส่วนในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการนั้นไม่สามารถลงไปถึงรายละเอียดของความผิดพลาดในขั้นตอนที่เจอปัญหาได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลในส่วนของทางด้านผู้พิการที่ได้รับความเสียหาย มีแต่เสียงพูด แต่ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชี้ชัด จึงอยากให้ผู้พิการที่เสียหายเข้ามาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะได้นำข้อมูลลงไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงในเชิงลึกอีกครั้ง ส่วนที่มองว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากส่วนของสถานประกอบการ หรือหน่วยงานมูลนิธิคนพิการ องค์กรคนพิการนั้น ตนไม่สามารถตอบได้ว่าความผิดพลาดที่ตรวจพบนั้นเกิดจากความตั้งใจ หรือไม่ทราบถึงรายละเอียดของกฎหมาย แต่หากมีผู้พิการเข้ามาให้ข้อมูล ทางเจ้าหน้าที่ก็สามารถลงไปตรวจสอบต่อไปได้ ทั้งนี้หน้าที่ในการลงไปตรวจสอบสถานประกอบการหรือหน่วยงานมูลนิธิ องค์กรคนพิการนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพราะกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปช่วยส่งเสริมให้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550