จี้สอบ พมจ.-จัดหางานสงสัยส่อมีเอี่ยวโกงเงินคนพิการกาฬสินธุ์
ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ เดินหน้ายื่นหนังสือ ปปง., ปปช., ปปท., สตง., ดีเอสไอ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จี้สอบข้าราชการหน่วยงาน พมจ. และจัดหางาน สงสัยพัวพันกับขบวนการยักยอกเงินจ้างผู้ปกครองคนพิการมาตรา 35 ขณะที่ “นางฐานิดา อนุอัน” ผู้ร้องเรียนหมายเลข 1 เรียกร้องคนพิการออกมาทวงสิทธิ์ของตนตามกฎหมาย
จากกรณีตัวแทนผู้ปกครองคนพิการใน จ.กาฬสินธุ์ ออกมาร้องเรียนเรื่องเงินค่าแรงผู้ดูแลคนพิการ โครงการจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 คนละ 1 แสนบาทต่อปี หรือเดือนละเกือบหมื่นบาท ถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ ยักยอกด้วยวิธีให้เปิดบัญชีทำงาน จากนั้นเก็บบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีก่อนจ่ายให้รายเดือนแค่คนละ 2,000-4,000 บาท ขณะที่มีการโอนเงินเข้าจริงเกือบหมื่นบาท เชื่อมีขบวนการสูบเลือดคนพิการแฝงในระดับชมรมถึงระดับสูง เรียกร้องเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการตรวจสอบ ขณะที่นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมอบหมายนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กำกับดูแล ล่าสุด นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ เดินทางมาติดตามผลการตรวจสอบจากทาง จ.กาฬสินธุ์ ขณะที่มีผู้เสียหายออกมาแจ้งความระบุถูกประธานชมรมผู้ปกครองคนพิการ ฯ ข่มขู่ขอเงินส่วนต่าง ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าว นอกจากทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ จะได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทาง จ.กาฬสินธุ์แล้ว ยังได้ส่งหนังสือ ร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ กรณีคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการถูกละเมิดสิทธิ์ และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จากชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยส่งไปยังสำนักงาน ปปง., ปปช., ปปท., สตง., ดีเอสไอ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมตรวจสอบ และพิจารณาบทลงโทษข้าราชการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าว
นายปรีดา กล่าวอีกว่า หนังสือร้องเรียนนั้นมีทั้งหมด 69 หน้า ซึ่งได้ชี้แจงถึงมูลเหตุของปัญหา และพฤติกรรมของประธานชมรมผู้ปกครองคนพิการฯ และข้าราชการในสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) กาฬสินธุ์ บางคน ทั้งก่อนและหลังที่จะมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้ตรวจพบหลักฐานหลายประเด็น ที่ทำให้เกิดความสงสัยมีข้าราชการในหน่วยงาน พจม.กาฬสินธุ์ และจัดหางาน จ.กาฬสินธุ์ เข้าไปข้องเกี่ยว ช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ทั้งด้วยวาจา พฤติการณ์ หลักฐานทางไลน์ และพยานบุคคล ซึ่งจะได้เร่งติดตามผลการตรวจสอบ เพื่อกำหนดบทลงโทษตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนางฐานิดา อนุอัน ผู้ร้องเรียนคนแรก กล่าวว่า วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ตนเข้าร่วมประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยที่ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ แต่บรรยากาศการประชุมไม่ดีเลย ตนที่เป็นผู้เดือดร้อนกลับถูกคณะกรรมการกล่าวหาเป็นคนสร้างปัญหาที่ไปร้องเรียน ทำให้ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงประสานกับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ซึ่งได้แนะนำว่าให้ออกมาจากห้องประชุมก่อน ต่อมาตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ พมจ.กาฬสินธุ์ ว่าให้ไปรับบัตรเอทีเอ็ม พร้อมสมุดเงินฝากและค่าจ้างที่ยังได้รับไม่ครบ ประมาณ 64,125 บาท ที่สำนักงาน พมจ.กาฬสินธุ์ วันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา
นางฐานิดา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้รับค้าจ้างเพียงเดือนละ 2,000-4,000 บาท รวม 18,000 บาทเท่านั้น ขาดอีก 64,125 บาท ถึงจะครบตามจำนวนที่พึงจะได้ ซึ่งจะเป็นจำนวน 82,125 บาท ทั้งนี้เพราะยังไม่ครบ 1 ปีจึงได้รับไม่เต็ม จำนวน 109,500 ตามสัญญา เนื่องจากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม พอไปตามนัดหมาย กลับถูกเจ้าหน้าที่ พมจ.กาฬสินธุ์ต่อว่าอีก จึงคิดว่าคงคุยตกลงอะไรกันไม่ได้แล้ว เราเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ดูแลคนพิการ เป็นผู้รับจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ต่อว่าต่างๆนานา จึงได้ถอยออกมาอีก และแจ้งเหตุการณ์ทั้งหมดไปให้เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการรับทราบ ก่อนที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ และคณะจะเดินทางมาที่กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อติดตามปัญหาและขอคำตอบจากทางจังหวัดดังกล่าว
“เมื่อวันก่อนตนได้รับซองเอกสารที่ส่งมาทางไปรษณีย์ ระบุชื่อผู้ส่งจากสำนักงาน พมจ.กาฬสินธุ์ เปิดดูเป็นจดหมายนำส่งบัตรเอทีเอ็มพร้อมสมุดบัญชี ที่เคยถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการ จ.กาฬสินธุ์เก็บไว้ แต่กลับไม่มีรายการแจ้งจ่ายเงิน 64,125 บาทคืนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากที่คนพิการหรือผู้ปกครองคนพิการ เข้าไม่ถึงกฎหมาย หรือไม่ทราบถึงสิทธิของคนพิการ จึงถูกเจ้าหน้าที่ปิดบังข้อมูล และอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเบียดเบียนสิทธิ์ จึงอยากเรียกร้องให้คนพิการหรือผู้ปกครองคนพิการ ออกมาเป็นแนวร่วมในการทวงสิทธิ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และเพื่อไม่ให้ข้าราชการกระทำความผิด” นางฐานิดากล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีถูกโกงค่าจ้างมาตรา 35 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดมีผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา ร้องเรียนกับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการรวมจำนวน 6 ราย คือนางฐานิดา อนุอัน, นางราตรี คามุลทา, นางไพรศรี เรือนพิศ, นายวรายุทธ ซาเศรษฐ, นางอรสา วงษา และนางดวงใจ คงสมของ