การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น

การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น

ผมมีผู้ช่วยเป็นคนญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง ผู้ช่วยคนนี้กำลังพยายามแสวงหาการจ้างงานในกรอบ “การจ้างงานคนพิการ” เมื่อได้ยินเขาบอกทีแรก ผมตกใจ ถึงกับพลั้งปากถามด้วยความไม่รู้ว่า “คุณน่ะเหรอ? ดูก็ปกติดีนะ” แล้วเขาจึงเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป อีกทั้งช่วงไม่นานมานี้มีข่าวคราวความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ผมจึงสนใจเรื่องนี้และติดตามจนเข้าใจระบบมากขึ้น

อันที่จริง ผู้ช่วยคนนี้คือเพื่อนกันนี่เอง อายุก็ห่างกันไม่กี่ปี เหตุที่ทำให้เขามาทำงานเป็นผู้ช่วยพาร์ตไทม์ของผมได้คือ เขาไม่ได้ทำงานเต็มเวลาเหมือนคนทั่วไป เขาทำงานตามปกติไม่ได้แม้ว่าสภาพร่างกายภายนอกและการพูดจาดูเหมือนคนปกติทุกอย่าง ก่อนที่ผมจะขอแรงให้เขามาเป็นผู้ช่วย เราเป็นคนรู้จักกันธรรมดา ออกจะห่าง ๆ เสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เขาชอบลองอาหารของชาติโน้นชาตินี้รวมทั้งอาหารไทย จึงทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น จนกระทั่งได้ทราบว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าและกินยามาโดยตลอด นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาไม่สามารถไปทำงานตามปกติได้ ทว่าสิ่งที่จะกล่าวในคราวนี้ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นเรื่อง “การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่นและปัญหาที่เกิดขึ้น”

เมื่อพูดถึงคำว่า “พิการ” คนส่วนใหญ่นึกถึงความพิการทางกาย แต่ความพิการครอบคลุมไปถึงความบกพร่องทางสมอง (หรือทางจิตประสาท) ด้วย ในกรณีของผู้ช่วยคนนี้ หลังจากที่ผจญกับโรคซึมเศร้าหลายปี ในที่สุดการวินิจฉัยครั้งหลัง ๆ ทำให้ทราบว่า ต้นเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือ “ความบกพร่องทางพัฒนาการ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮัตตัตสึ โชไง” (発達障害;hattatsu shōgai) หรือ developmental disability ซึ่งมีหลายชนิดและมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ชนิดที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุดน่าจะเป็นโรคออทิซึม อาการของแต่ละคนที่แสดงออกมาก็ต่างกัน เช่น บางคนมีปัญหาด้านการสื่อสาร บางคนบกพร่องด้านการเรียนรู้ บางคนละเลยการดูแลความสะอาดของร่างกาย เป็นต้น

ญี่ปุ่นพยายามทำสังคมให้มีความเท่าเทียมกันในหลายด้าน สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแล้วแต่กรณี แต่อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าพยายาม ด้านหนึ่งที่น่าชื่นชมคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้คนพิการดำรงชีวิตได้สะดวกขึ้น ถ้าพิจารณาความใส่ใจที่มีต่อคนพิการ ถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนข้างทำจริงและเห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างในชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจนชินตาคือ คนพิการเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ขึ้นรถเมล์เอง เคลื่อนที่เอง โดยมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ทำเช่นนั้นได้ง่าย เช่น ถนนที่ปูด้วยแผ่นอิฐสีเหลืองเป็นแนวให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางได้ หรือบันไดขึ้นรถเมล์ ญี่ปุ่นก็ออกแบบให้มีระดับเท่ากับทางเท้า ทำให้ผู้ใช้รถเข็น (ตลอดจนคนสูงอายุ) เคลื่อนที่ขึ้นลงรถได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีพื้นต่างระดับเป็นอุปสรรค

ส่วนความเคลื่อนไหวด้านการจ้างงานคนพิการนั้น ญี่ปุ่นก็มีนโยบายแบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นด้วย พัฒนาการโดยสังเขปแสดงได้ดังตารางต่อไปนี้

การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น

จากกฎหมายเดิมตั้งแต่ทศวรรษ 60 จนถึงปลายทศวรรษ 80 ญี่ปุ่นส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอยู่แล้ว และสิ่งที่ถือว่าเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญหลังจากมีกฎหมายใหม่ (ฉบับปัจจุบัน) เมื่อปี 2530 คือการเพิ่มประเภทของผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาเข้าไปด้วยเมื่อปี 2541 และต่อมาก็เพิ่มเข้าไปอีก 1 ประเภท ซึ่งทางการแพทย์ระบุแยกไว้เป็นคนละคำ ได้แก่ “ความบกพร่องทางสติปัญญา” (intellectual disablity) กับ “ความผิดปกติทางจิตประสาท (และอารมณ์)” (mental disorder)

สองคำนี้ถ้าฟังผ่าน ๆ มักมีคนไม่ตระหนักถึงความแตกต่าง แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดจริง ๆ แล้วมีข้อปลีกย่อยต่างกัน อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ ความบกพร่องทางสติปัญญามักพูดถึง IQ หรือพัฒนาการทางสมอง ส่วนความผิดปกติทางจิตประสาทมักพูดถึงการแสดงออกทางอารมณ์และการสื่อสารด้วย (แต่ทั้ง 2 กรณีมักเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท) ซึ่งทำให้การวินิจฉัยซับซ้อนยิ่งขึ้น อย่างหลังนี้ ญี่ปุ่นแยกออกมาเป็นเอกเทศในปีนี้ ในญี่ปุ่นผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเข้าข่ายความพิการอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้รับเอกสารยืนยันจากแพทย์ และนำไปใช้อ้างสิทธิ์การสมัครเข้าทำงานในฐานะคนพิการได้

อย่างไรก็ตาม แม้มีกรอบเป็นตัวเลขเป้าหมาย แต่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐบาลเองกลับปลอมแปลงตัวเลขให้ดูสูงเข้าไว้ทั้ง ๆ ที่จ้างงานคนพิการไม่ได้ตามเป้า ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานฯ ของญี่ปุ่นจัดการสำรวจและพบว่า ในหน่วยงาน 33 แห่ง มี 27 แห่งหรือราว 80% บวกตัวเลขเข้าไปเพื่อทำให้ตัวเลขดูดีเสมือนว่ามีการจ้างงานคนพิการจริง และพบว่าตัวเลขรวมทั้งหมดที่งอกเกินความเป็นจริงขึ้นมาคือ 3,460 คน เมื่อยกตัวอย่างบางหน่วยงานเทียบกับตัวเลขเป้าหมาย 2.2% พบว่าสำนักคณะรัฐมนตรีจ้างคนพิการได้จริง 1.14% แต่เพิ่มตัวเลขลงไปอีก 27 คน, สำนักงานผู้บริโภคจ้างคนพิการได้จริง 0.12% แต่เพิ่มตัวเลขลงไปอีก 9.5 คน เป็นต้น รวมแล้วอัตราการจ้างงานคนพิการได้จริงคือ 1.19% เท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นคือ ว่ากันว่าหน่วยงานรัฐไม่สามารถ ‘สร้างงาน’ ขึ้นมารองรับคนพิการได้เพียงพอ เมื่อเทียบบริษัทเอกชนซึ่งก็ต้องจ้างงานคนพิการเช่นกัน ปรากฏว่าบริษัทเอกชนดำเนินการได้คล่องตัวกว่า ในกรณีเอกชนของญี่ปุ่น ถ้ามีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องจ้างคนพิการ 1 คน (ทำนองเดียวกับของไทย) หากว่าจ้างไม่ได้ตามกำหนดจะต้องจ่ายเป็นเงินแทน (จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ค่าปรับ? เงินสมทบ? ของไทยเรียกว่าเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตกปีละประมาณ 1 แสนบาทเศษ, ส่วนของญี่ปุ่นคือเดือนละ 50,000 เยน ตกปีละ 6 แสนเยน หรือราว 2 แสนบาท) และหากไม่มีงานรองรับเพียงพอ ก็สามารถตั้ง “บริษัทลูกประเภทพิเศษ” ขึ้นมาเพื่อ ‘สร้างงาน’ ให้คนพิการทำได้

การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น

สรุปคือหน่วยงานรัฐมีทางออกน้อยกว่า จึงลงเอยด้วยการเปลี่ยนตัวเลข ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่ประชาชนอยู่ไม่น้อยไม่ว่าจะมีเหตุผลด้านความจำเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ ต่อไปรัฐบาลญี่ปุ่นคงจะต้องทบทวนแผนการจ้างงานเสียใหม่ เพราะในขณะที่ทางการเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ทางการกลับไม่รักษากฎหมายเสียเอง

โดยรวมแล้ว สภาพการจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่นคือ คนพิการจำนวนมากอยากทำงาน และถึงแม้มีกฎหมายสนับสนุนอยู่ แต่ในหลาย ๆ กรณีวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นบีบให้ไม่สามารถทนทำอยู่ได้นาน บรรยากาศการทำงานของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่รู้กันว่าเครียด และยุ่งอยู่ตลอดเวลา แม้หน่วยงานหรือบริษัทจะมีท่าทีใจดีกับพนักงานพิการ แต่บรรยากาศภายในสร้างความกดดันจนคนเหล่านี้อยู่ไม่ทน

สำหรับผู้ช่วยของผมในขณะนี้ เขาไม่ใช่ผู้พิการทางกาย แต่จากการวินิจฉัย อยู่ในข่ายความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ จริง ๆ แล้วระหว่างเราก็ไม่มีปัญหาใหญ่โตด้านการสื่อสาร แต่ผมพอจะสังเกตได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเขามีแนวโน้มตีความคำอธิบายไปคนละทางกับสิ่งที่ผมพูด ทีแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ต่อมาเริ่มเข้าใจว่านี่อาจเป็น “ความบกพร่องทางพัฒนาการ” ซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับ และอธิบายให้ฟังอีกด้วยว่าลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ง่าย ๆ หรือในบางกรณีอาจแก้ไม่ได้เลย

การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น

การได้รับข้อมูลจากผู้ช่วยของผมไม่เพียงแต่ทำให้ทราบถึงระบบการจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น แต่ยังทำให้ถึงกับตาสว่างขึ้นมาพบกับความเข้าใจ ‘คนที่ไม่เหมือนเรา’ มากขึ้นด้วย กล่าวคือ บางครั้งเราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคนบางคนถึงมองเรื่องง่าย ๆ ด้วยเหตุผลไม่ออกนะ? เอ๊ะ...ทำไมตรรกะของคนบางคนมันช่างป่วยได้ถึงขนาดนั้นนะ? แต่พอได้เรียนรู้คำว่า “ความบกพร่องทางพัฒนาการ” ซึ่งถือว่าเป็นความพิการอย่างหนึ่ง จึงมองเสียใหม่ว่าเราไม่รู้หรอกว่าคนคนนั้นมีกลไกอะไรในระบบประสาทขาดตกบกพร่องหรือเปล่า เจ้าตัวอาจไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองมีความไม่สมบูรณ์ หรือแม้แต่ตัวเราเอง เราอาจไม่รู้ว่าเรามีความบกพร่องทางพัฒนาการอย่างใดอย่างหนึ่ง และเรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญระบุเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเจอคนที่ตอบสนองเราไม่ได้ดั่งใจก็ให้อภัยหรือวางเฉยไปเสีย เพราะเขาอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่ระบบประสาทมันสั่งการมาอย่างนั้น...คิดเสียอย่างนี้จะช่วยลดอารมณ์ขุ่นมัวของเราลงได้

สำหรับผู้ช่วยผมคนนี้ จากนี้ไปได้แต่เอาใจช่วยให้มีบริษัทที่ไหนสักแห่งว่าจ้างเขาไปทำงานตามกรอบที่รัฐบาลกำหนด เมื่อถึงตอนนั้นแม้ว่าผมอาจจะต้องขาดผู้ช่วยไป แต่หากเขาได้ทำงานร่วมกับคนหมู่มาก ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในกรอบเดียวกันกับคนปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้คือ ตัวเขาเองย่อมตระหนักในคุณค่าของตัวเองมากขึ้น

ขอบคุณ... https://mgronline.com/japan/detail/9610000112989

ที่มา: mgronline.com /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 12 พ.ย.61
วันที่โพสต์: 15/11/2561 เวลา 10:04:00 ดูภาพสไลด์โชว์ การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น