พมจ..มหาสารคาม ดึง นักเรียนใช้วงกลองยาว ช่วยรณรงค์ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16.00 น .ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ประจำปี 2561ภายใต้แนวคิด “ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” และมุ่งส่งเสริมผู้ชายให้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรง โดยมีคำรณรงค์ “สุภาพบุรุษ หยุดความรุนแรง” จากนั้นได้ปล่อยขบวนรถรณรงค์การยุติความรุนแรงไปตามย่านชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม และใช้วงกลองยาวร่วมเดินรณรงค์ชูข้อความยุติความรุนแรงทุกรูปแบบที่บริเวณห้างสรรพสินค้า และเดินติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว แจกเอกสารข้อมูลสร้างสรรค์ที่จะช่วยยุติความรุนแรง และแนะนำช่องทางการแจ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงให้กับประชาชน
นางสุภานัน เทียนทอง รักษาราชการแทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ความรุนแรงยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นประจำทุกวัน ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อและไม่เป็นข่าวทางสื่อ ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งกับตัวบุคคล สังคม ชุมชน หมู่บ้านโดยเป็นความรุนแรงระหว่างบุคคลกับบุคคล บุคคลกับครอบครัว บุคคลกับสังคม และมีรูปแบบความรุนแรงหลากหลายประเภท โดยเฉพาะความรุนแรง หรือภัยคุกคามทางเพศ ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคล การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และแนวคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคล ในครอบครัว การประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ. 2550 ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง
สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดมหาสารคาม มีสถิติผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ทั้งหมด 22 ราย แบ่งเป็นความรุนแรงต่อเด็ก 3 ราย ความรุนแรงต่อผู้ใหญ่ 12 ราย ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ 5 ราย ความรุนแรงต่อผู้พิการ 2 ราย และจากการจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์ทางสังคมจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2560 พบว่าครอบครัวส่วนมากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คือ ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองลงมา คือ การติดการพนันต่าง ๆ มั่วสุมและทำความรำคาญให้ชาวบ้าน สำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม ได้เห็นความสำคัญในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเด็กและเยาวชน เครือข่ายที่ทำงานในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง และประชาชน รวม 250 คน เข้าร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์ พร้อมรับฟังการให้ความรู้จากวิทยากร ในหัวข้อ “ความรุนแรงต่อเด็ก และสตรีเริ่มต้นจากคนในครอบครัว” และหัวข้อ “ช่องทางการส่งต่อการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว