กรมทะเลฯ พัฒนาอวัยวะเทียม เพื่อสัตว์ทะเลพิการ
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผย พบว่าสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น เฉลี่ยปีละ 419 ตัว พบมากสุด เต่าทะเล สาเหตุการเกยตื้นเกิดจากเครื่องมือประมง
วันที่ 22 พ.ย.61 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรม ทช. มีภารกิจหลักในการศึกษา วิจัย พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพืชและสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในระหว่างปี 2558 – 2560 พบว่ามีการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็น
-เต่าทะเล 57%
-โลมาและวาฬ 38%
-พะยูน 5%
สาเหตุการเกยตื้น สำหรับเต่าทะเลและพะยูน ส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องมือประมง คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ
ในขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬ ส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ คิดเป็น 63% ซึ่งจะพบว่ากลุ่มของเต่าทะเลพบการเกยตื้นมากที่สุด โดยเต่าทะเลที่ได้รับการช่วยเหลือบางกลุ่มเป็นเต่าทะเลพิการที่ไม่สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานในระยะยาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนานวัตกรรมรยางค์เทียม เพื่อช่วยเหลือเต่าทะเลที่พิการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง และยินดีให้ความสนับสนุนทีมนักวิชาการ และสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญ และการอนุบาลสัตว์ทะเลหายากพิการที่ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ทะเลได้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่จะช่วยคืนชีวิตให้สัตว์ทะเลพิการ โดยมีการประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีจาก 4 องค์กร คือ ปตท. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ
เนื่องจากปัจจุบันมีเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บจากการติดเครื่องมือประมงและใบพัดเรือ ซึ่งต่อมาได้รับการรักษาต้องถูกตัดครีบ เนื่องจากอวัยวะในส่วนดังกล่าวจะเกิดเนื้อตายและติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติเป็นจำนวนมากเพื่ออนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก รักษาสมดุลประชากรสัตว์น้ำ และระบบนิเวศทางทะเลของไทย อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล นำรายได้เข้าสู่ประเทศและชุมชนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ในอีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับ Sustainable Development Goal ซึ่งเป็นภารกิจด้าน Pride
ของ ปตท.ด้วย โดยกลุ่ม ปตท. ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม จะนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์สำหรับสัตว์ทะเล ซึ่งมีโครงการนำร่องที่ ปตท. ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานไปแล้ว ประมาณ 1.2 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (PTTGC) กล่าวว่า GC ไม่หยุดนิ่งในการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักที่ GC ยึดถือเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และในฐานะที่ GC เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดี จึงได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศทางทะเลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) พร้อมด้วยนักวิจัยและบุคลากร ผู้มีความรู้ความสามารถของ GC มาร่วมวิจัยและคิดค้นกายอุปกรณ์เทียมที่เหมาะสมสาหรับสัตว์ทะเลใน “โครงการการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ” โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่าทะเลที่พิการและไม่สามารถปรับตัวเพื่อดารงชีวิตตามธรรมชาติได้ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามธรรมชาติ อีกทั้งช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายในการ “สร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทย ก้าวไกลในสังคมโลก” สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมสำหรับสัตว์พิการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างให้เต่าทะเลที่พิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีพได้ตามปกติ โดยจากปัญหาทางด้านสวัสดิภาพของเต่าทะเลพิการตามที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนั้น ซึ่งการลงนามครั้งนี้ จะมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือกันทั้ง 4 องค์กร ในการพัฒนา วิจัย รวมทั้งออกแบบกายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ มุ่งเน้นความร่วมมือในการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษา ด้านวิชาการ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน โดยมีการนำหลักชีวกลศาสตร์ ร่วมกับการใช้วัสดุที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผนวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้ในงานชีวการแพทย์ เพื่อช่วยให้สัตว์ทะเลพิการสามารถดำรงชีพได้ตามปกติอีกครั้ง และยังถือเป็นการพัฒนาเทคนิคการใช้รยางค์เทียม เพื่อการรักษาสัตว์ทะเลหายากได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย