รฟม.แจงชัดค่าโดยสาร-ทางเท้าเป็นตามมาตรฐาน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย ภายหลังที่มีกระแสข่าวกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์สมาคมฯ เกี่ยวกับการบริหารรถไฟฟ้า ในประเด็นการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้าสายสีม่วง สูงสุดถึง 70บาท จากช่วงราคามาตรฐานปัจจุบันคือ 14-42 บาท โดยเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจบีบบังคับเอาเงินมาจากกระเป๋าประชาชน และประเด็นการเรียกร้องให้มีการปรับแบบ การก่อสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้าทุกสาย ให้ลดขนาดบันได้ขึ้นลงรถไฟฟ้าเหลือ 50 % จากความกว้างของทางเท้า เนื่องจากปัจจุบันรถไฟฟ้าสายต่างๆ ใช้ทางเดินเท้าหรือฟุตบาทเป็นบันไดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า นำไปทำทางขึ้นลงรถไฟฟ้า ทำให้เหลือพื้นที่ทางเท้าบางจุดไม่ถึง 1-2 ฟุต ในขณะที่บันไดขึ้นลงรถไฟฟ้ากลับขยายอย่างกว้างขวางเกินความจำเป็น ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่ใช้ทางเท้าที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของรถไฟฟ้าและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรถไฟฟ้าจนเกินเหตุนั้น
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. กรณีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วมสูงสุดถึง 70 บาท เป็นอัตราค่าโดยสารสูงสุดกรณีที่มีการใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ทั้งสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นอัตราเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2559 หากผู้ใช้บริการมีการเดินทางเฉพาะในสายสีม่วง จะเสียค่าโดยสาร 14-42 บาท และหากเดินทางเฉพาะในสายสีน้ำเงิน จะเสียค่าโดยสาร 16-42 บาท แต่หากมีเดินทางทั้งสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินจะเสียค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท ทั้งนี้ การปรับค่าโดยสารในครั้งนี้เป็นการปรับเฉพาะกรณีเดินทางในสายสีน้ำเงิน โดยอัตราค่าโดยสารปรับขึ้นอีก 1 บาท จากเดิม ณ สถานีที่ 5 8 และ 11 นับจากสถานีต้นทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงินเท่านั้น
2. กรณีเรียกร้องให้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ กรุงเทพมหานคร ทบทวนสั่งให้มีการปรับแบบและสั่งรื้อทางขึ้นลงรถไฟฟ้าทุกสายทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งในปัจจุบันและสายต่างๆในอนาคต ให้ลดขนาดบันไดขึ้นลงรถไฟฟ้าให้เหลือ 50 % จากความกว้างของทางเท้านั้น กรณีดังกล่าว รฟม.ขอเรียนชี้แจงว่า สำหรับบันไดทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างโดย รฟม. ที่ตั้งบนทางเท้าสาธารณะ จะจัดให้ทางเดินเท้าข้างบันไดมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เมตร ตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2555 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2556 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกรณีตามภาพข่าว พบว่าเป็นบริเวณบันไดทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับร้านค้าที่มีการวางแผงค้ารุกล้ำทางเท้าสาธารณะ จึงทำให้เหลือช่องทางเดินกว้างน้อยกว่า 1.50 เมตร โดยจากการตรวจสอบถือเป็นรูปแบบปกติ