เด็กพิการสมาชิก “วีลแชร์ แดนซ์”-ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาฯ มั่นใจโปร่งใสแบ่งเงินรางวัล 10 ล้านแชมป์ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เด็กพิการสมาชิกทีม “วีลแชร์ แดนซ์” ที่ชนะเลิศการประกวดรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ร่วมแสดงงาน “เปิดบ้านศรีสังวาลย์เชียงใหม่” นำเสนอผลงานและความสามารถเด็กพิการ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการเผยได้ตรวจสอบกรณีเงินรางวัลที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้แล้ว เชื่อมั่นโปร่งใส
วันที่ (1 ส.ค. 60) ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พลโท โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “เปิดบ้านศรีสังวาลย์เชียงใหม่” ประจำปี 2560 ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาด้านต่างๆ ของโรงเรียน รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กพิการทั้งที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน, เรียนร่วม และศิษย์เก่าได้แสดงความสามารถให้สังคมรับรู้ว่าคนพิการมีศักยภาพสามารถพัฒนาได้หากได้รับโอกาส ซึ่งในช่วงพิธีเปิดทางโรงเรียนได้จัดชุดการแสดง “วีลแชร์ แดนซ์” ที่นำมาประยุกต์ใหม่ โดยมีเด็กพิการของโรงเรียน โดยสมาชิกทีม 3 จาก 8 คนที่ชนะเลิศการประกวดรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ปี 4 เมื่อปี 2557 ร่วมการแสดงด้วย นอกจากนี้ยังมีสมาชิกทีมอีก 2 คน รวมเป็นทั้งหมด 5 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ทั้งนี้ ในช่วงพิธีเปิดกิจกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดสรรเงินรางวัล 10 ล้านบาท ที่ชนะเลิศการประกวดรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ให้กับสมาชิกทีม 8 คนที่เป็นเด็กพิการของโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ว่า กรณีดังกล่าวทางกระทรวงศึกษาธิการได้รับข้อมูลและดำเนินการตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นไม่พบว่าทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและคณะกรรมการสถานศึกษารวมทั้งโรงเรียนมีการทุจริตแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันยังชื่นชมวิธีการบริหารจัดการเงินรางวัลดังกล่าวที่ทำให้เงินต้นยังคงอยู่ และมีดอกผลเข้ามูลนิธิของโรงเรียนสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลเด็กนักเรียนทุกคนของโรงเรียน รวมทั้งพัฒนาโรงเรียนอย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะที่นายวิชัย แยเปียง อายุ 16 ปี, นายธนะวัฒน์ แข่งขัน อายุ 17 ปี และนายณัฐพงษ์ แซ่ว่าง อายุ 17 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกทีม “วีลแชร์ แดนซ์” ที่ชนะเลิศการประกวดรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ปี 4 เมื่อปี 2557 เปิดเผยร่วมกันว่า การจัดสรรเงินรางวัล 10 ล้านบาทที่ได้จากการชนะเลิศการแข่งขันดังกล่าว สมาชิกทีมทั้งหมดและผู้ปกครองได้มีการพูดคุยหารือจนเข้าใจกันเป็นอย่างดีและเห็นชอบตรงกันที่จะให้มีการจัดสรรเงินในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนก็ได้รับเงินฝากเข้าบัญชีปีละ 100,000 บาทตลอดโดยที่ไม่มีปัญหาใดๆ และรู้สึกดีด้วยที่เงินรางวัลที่ได้รับมาถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในการพัฒนาโรงเรียนและดูแลพี่น้องนักเรียนทุกคนของโรงเรียน
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดสรรเงินรางวัลนั้น ไม่เชื่อว่าทางมูลนิธิหรือผู้บริหารโรงเรียนมีการดำเนินการที่แอบแฝงซ่อนเร้นแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด และไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมหนึ่งในสมาชิกของทีมจึงมีการให้ข้อมูลที่นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยดังกล่าว ขณะที่ปัจจุบันแต่ละคนยังคงมีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารที่เป็นของแต่ละคนอยู่เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นทุนการศึกษาจนจบระดับสูงสุด นอกจากนี้ยืนยันว่าค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมของทีม “วีลแชร์ แดนซ์” ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งสามารถชนะเลิศการประกวดรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์คว้าเงินรางวัล 10 ล้านบาทนั้น ได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิและทางโรงเรียน
ด้านนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยกล่าวหาว่าโรงเรียนและมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการโกงเงินรางวัล 10 ล้านบาท ซึ่งควรจะแบ่งให้เด็กนักเรียนที่เข้าแข่งขันเท่านั้น ในส่วนของข้อเท็จจริงคณะกรรมการหลายฝ่าย รวมทั้งครูและผู้ปกครองได้ร่วมกันพิจารณาการจัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งเพื่อเกิดความมั่นคงและยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขัน นักเรียนพิการทั้งโรงเรียน รวมทั้งเด็กพิการรุ่นต่อๆ ไปที่จะเข้ามาเรียน
ซึ่งการบริหารจัดการนี้เป็นการบริหารจัดการโดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ในฐานะที่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการส่งนักเรียนเข้าแข่งขัน โดยที่คณะครูและบุคลากรทุกฝ่ายล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือดูแลทั้งสิ้นมาอย่างยาวนาน จึงนำเงินเข้ามูลนิธิและได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งมูลนิธิต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กพิการคนอื่นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันเลี่ยงภาษี
ส่วนการจัดสรรเงินรางวัลดังกล่าวนั้น มีคณะกรรมการทั้งของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและคณะกรรมการสถานศึกษาบริหารจัดการ ซึ่งมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด โดยนำเงินรางวัล 10 ล้านบาทซื้อสลากออมสิน แล้วใช้ค้ำประกันกู้เงิน 9.5 ล้านบาท ออกมาเป็นกองทุนสวัสดิการให้ครูและบุคลากรของโรงเรียนกู้ยืม
ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้จากการให้กู้ยืมและสลากออมสิน รวมทั้งเงินรางวัลถูกสลากประมาณปีละ 1 ล้านบาท นำมาจัดสรรให้ผู้ได้รับประโยชน์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กที่เข้าร่วมการแข่งขัน 8 คน, กลุ่มครูและบุคลากรของโรงเรียน และกลุ่มเด็กพิการทั้งโรงเรียน โดยกลุ่มเด็กที่เข้าร่วมการแข่งขัน 8 คน ได้รับเงินคนละ 500,000 บาท แบ่งจ่ายให้ปีละ 100,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาจนถึงขั้นสูงสุดตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ซึ่งมีการตกลงกันเป็นที่เข้าใจทุกฝ่ายตั้งแต่แรกและมีเอกสารหลักฐานทั้งหมด ขณะที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการจัดสรรเงินเข้าบัญชีธนาคารให้ครบถ้วนตามที่ตกลงทุกคน
ขอบคุณ... https://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000078235 (ขนาดไฟล์: 166)