เมื่อผู้พิการต้องขึ้นเครื่องบิน ถึงที่หมายแต่วีลแชร์ล้อหลุด
สัปดาห์นี้ไปติดตามสารพัดปัญหาของ “ผู้พิการ” วีลแชร์โหลดใต้ท้องเครื่อง เมื่อถึงที่หมายล้อหลุด ที่วางเท้าหาย บางคันใช้งานต่อไม่ได้ เพราะผู้ขนย้ายขาดความเข้าใจ
เมื่อต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้พิการที่เป็นอัมพาตขั้นสูง แต่คนส่วนใหญ่แยกไม่ออกว่าขั้นสูงอย่างไร ในเมื่อยังมีทุกอย่างครบ เพียงแต่เดินไม่ได้ การรับมือหรือการบริการลูกค้ากลุ่มนี้ จึงขาดความเข้าใจ
“ความเข้าใจ” คำนี้น่าจะเป็นกุญแจแก้ไขความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ระหว่างผู้พิการกับผู้ให้บริการ คือ สายการบินและสนามบิน เมื่อผู้พิการต้องเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเรื่องอึดอัดเมื่อเดินทางในประเทศ เพราะเข้าไม่ถึงการบริการ หนักเข้าเลือกที่จะเดินทางโดยรถยนต์ยังสะดวกกว่า
ภัทรพันธ์ กฤษณา เลขาธิการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงปัญหาการเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้พิการอัมพาตขั้นสูงที่ใช้วีลแชร์ มีความจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำ ซึ่งมีที่เปลี่ยนผ้าอ้อมแบบผู้ใหญ่ มีห้องอาบน้ำ ในกรณีฉุกเฉินท้องเสียระหว่างเดินทาง ห้องอาบน้ำจึงจำเป็นมากถึงมากที่สุด สนามบินในหลายประเทศมีความสะดวกเหล่านี้ให้ผู้เดินทางพิการที่นั่งวีลแชร์ ปัจจุบันที่ฟิลิปปินส์มีให้บริการแล้ว ที่ซาอุดีอาระเบียก็เช่นกัน…แต่สนามบินนานาชาติของไทยยังไม่มี
ทำไมจำเป็น? ผู้พิการอัมพาตที่ต้องใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินมากกว่า 4 ชม. ระบบการขับถ่ายของเสียจากร่างกายคือความสาหัส การระบายของเสียออกจากร่างกายต้องใช้วิธีสวนอุปกรณ์ ตามกฎของความปลอดภัย จะถูกให้โยนทิ้งในขั้นตอนการตรวจของเหลว
ประเด็นก็คือทิ้งได้...แต่ควรมีจำหน่ายในร้านขายยาด้านในสนามบินก่อนขึ้นเครื่อง เช่นเดียวกับของใช้จำเป็นอื่นๆ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เลานจ์หรือห้องพักก่อนขึ้นเครื่องสำหรับผู้พิการที่นั่งติดเก้าอี้ ควรจัดให้มีที่นอน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถจากเก้าอี้ เพราะในกรณีที่ต้องเดินทางระยะไกลหลายชั่วโมง มีผลทำให้เป็นแผลกดทับ
แพลตฟอร์มลิฟต์ รถไฮน์ ลิฟต์ เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการส่งผ่านผู้โดยสารพิการที่นั่งติดเก้าอี้เพื่อขึ้นเครื่อง กรณีที่เครื่องบินไม่มีสะพานเชื่อมจากตัวอาคารสนามบินมายังเครื่องบิน
เรื่องชวนปวดหัวที่สำคัญสำหรับคนนั่งติดเก้าอี้วีลแชร์อีกเรื่อง รถวีลแชร์ที่ไม่ใช่ไฟฟ้าและจำเป็นต้องไปอยู่ใต้ท้องเครื่องบิน เมื่อถึงที่หมายปลายทางล้อหลุด ที่วางเท้าหาย สภาพรถเข็นบางคันถึงขั้นใช้งานไม่ได้ ทั้งนี้เพราะผู้ขนย้ายขาดความเข้าใจ รถวีลแชร์ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งของแต่เป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกายเลยทีเดียวล่ะ
ภัทรพันธ์ บอกว่า เขาอยากขอร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับการบินเข้าใจ ปรับอีกนิดแก้ไขอีกหน่อย การเดินทางโดยเครื่องบินสำหรับคนทุกกลุ่มก็ไม่ใช่เรื่องหงุดหงิดและเป็นไปไม่ได้ ต้นทุนสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการไม่ใช่คำตอบ สนามบินนานาชาติหนึ่งแห่งใช้งบหลายพันล้าน งบเพื่อตอบโจทย์การเดินทางกลุ่มคนพิเศษนี้จึงไม่ใช่ประเด็น ความเข้าใจและการพูดคุยร่วมกันระหว่างคน 2 โลก คนจากโลกปกติและคนที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหว ความเข้าใจและการพูดคุยด้วยใจที่เปิดกว้าง จะช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้นเยอะเลย เชื่อเถอะ