ภัยกระดูกสันหลังคดในเด็ก รักษาได้ไม่ต้องทุกข์ทรมาน
สัปดาห์นี้พูดถึง “โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก” ที่เป็นแล้วต้องทนทุกข์ทรมาน เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนน้อยและไม่มีองค์ความรู้ที่แพร่หลาย แต่ความจริงสามารถรักษาหายได้เหมือนมีชีวิตใหม่ไปอ่านกัน
ปัจจุบันสถิติ “เด็กไทย” ป่วยเป็น “โรคกระดูกสันหลังคด” ในอัตรา 1 ต่อ 1,000 คน ซึ่งถ้าเป็นไม่มากจะไม่มีอาการใดๆ และประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ และระยะหลังพบเด็กเป็นโรคนี้กันมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้!!
นพ.ศรันย์ อินทกุล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ อธิบายว่า “โรคกระดูกสันหลังคด” สามารถแบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ กระดูกสันหลังปกติตั้งแต่แรกเกิด แต่มาคดในภายหลัง ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกี่ยวกับสารฮอร์โมนบางตัวที่ควบคุมระบบประสาทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรงตัว สามารถพบได้ร้อยละ 80 ในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ถ้าคดไม่มากแพทย์จะเฝ้าติดตามดูความเปลี่ยนแปลง ถ้าพบว่าคดระหว่าง 30-40 องศา ในอายุที่ต่ำกว่า 15 ปี รักษาด้วยการใส่เสื้อสำหรับแก้ความคด หรือเรียกว่า “เสื้อเกราะ” ถ้าใส่ตามคำแนะนำแพทย์จะได้ผลดี แต่ถ้าไม่และคดเพิ่มต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามให้กระดูกสันหลังตรงขึ้นได้
กระดูกสันหลังคดตั้งแต่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากยาที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้เกิดจากกระดูกผิดปกติ เช่น การเจริญของกระดูกสันหลังไม่เท่ากัน ถ้าคดแล้วจะคดมากขึ้นค่อนข้างเร็ว แพทย์ต้องรักษาทันที เพราะถ้าเป็นมากอาจเป็นอัมพาตได้ ความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อระบบประสาทอยู่แล้ว เช่น ผิดปกติของสมอง สมองพิการ โรคโปลิโอ ฯลฯ มีโอกาสทำให้กระดูกสันหลังคดเมื่อโตขึ้นได้ และ โรคเท้าแสนปม จะพบกระดูกสันหลังคดร่วมด้วยประมาณร้อยละ 30
ยกตัวอย่างกรณีที่มีการแชร์ภาพเด็กกระดูกสันหลังคดเป็นรูปตัวเอสในโซเชียลเมื่อปีที่แล้ว คือ “น้องแม็ก-วันชัย ฤทธิเกษร” ซึ่งได้รับการประสานจากรายการปันฝันปันยิ้มเข้ารับการผ่าตัดช่วยเหลือผ่าตัดรักษาผ่านโครงการกองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ หรือ “New Life” จนหายเป็นปกติโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อวันที่ 5 ก.ค.59 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดที่จัดแมตซ์ฟุตบอลหาเงินเข้ากองทุน รวมถึงพา “น้องแม็ก” ไปกระทบไหล่นักเตะในดวงใจ คือ “ต้น-นฤบดินทร์” สังกัดบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดด้วย
“น้องแม็ก-วันชัย” เล่าว่า ตอนที่เป็นกระดูกสันหลังคดมันเจ็บปวดทรมานมาก ขนาดหายใจยังเจ็บเลย ไม่สามารถเรียนหนังสือและออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ได้ และไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร ไปหาหมอทราบว่าต้องผ่าตัดและใช้เงินรักษาจำนวนมาก ทำให้รู้สึกหมดโอกาสที่หายจากโรค เพราะครอบครัวไม่มีเงินจึงต้องทนทรมาน กระทั่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ ซึ่งหลังจากที่ผ่าตัดแล้วต้องใส่เสื้อเกราะดามกระดูกอีก 3 เดือน พอถอดแล้วก็ทำกายภาพบำบัดสร้างกล้ามเนื้อต่อจนแข็งแรง ตอนนี้ส่วนสูงเพิ่มจากเดิม 5 เซนติเมตร ร่างกายแข็งแรงดีไม่เจ็บปวดทรมานอีกต่อไปแล้ว
นพ.ศรันย์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้คร่าวๆ ว่า เด็กอาจเป็นกระดูกสันหลังคดหรือไม่?? ดังนี้...ให้เด็กยืนตัวตรงแล้วดูแนวสันหลังว่า ตรงหรือไหม?? จากนั้นให้เด็กก้มหลังลง มือแตะพื้น ถ้ามองตามเส้นแนวกระดูกสันหลังแล้วไม่คดแสดงว่าปกติ แต่ถ้ามีแนวไม่ตรงและสงสัยว่าจะคด หรือสังเกตอาการได้แก่
แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง, ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน สะบักหรือกระดูกที่เป็นคล้ายๆ ปีกมีการนูนตัวมากกว่าอีกด้านหนึ่ง, ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางในระหว่างแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง, ตะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้นสูงกว่าอีกด้าน, กระดูกซี่โครงมีระดับความสูงไม่เท่ากัน, ระดับเอวไม่เท่ากัน, สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม มีขนขึ้น สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม และมีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
ฉะนั้นถ้าพบสิ่งผิดสังเกตควรพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ไม่เช่นนั้นอาจจมีอาการมากขึ้นในระยะยาว เช่น ตัวเอียงไหล่ตก แนวสะโพกเอียง รูปร่างพิการ ปวดหลัง มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หอบเหนื่อยง่าย เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หัวใจทำงานหนัก และสุดท้ายหัวใจล้มเหลวได้!!