เทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่อันตรายต่อเด็ก
กรณีหนูน้อยคนหนึ่ง ใช้เวลาจ้องดูการ์ตูนจากโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน จนส่งผลให้ตาอักเสบ ซึ่งแม้การสื่อสารยุคใหม่ จะเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ แต่ก็มีวิธีบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่ายได้ ติดตามจากรายงาน คุณกานต์กมล วงศ์วิลัย
ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมยุคใหม่ ทั้งโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ที่มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ใหญ่อาจตามไม่ทันถึงภัยที่จะเกิดขึ้น พ่อแม่ยุคใหม่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงลูกให้เข้าถึงสื่อต่าง ๆ หวังให้เป็นช่องทางเรียนรู้ และฆ่าเวลา
ขณะที่กุมารแพทย์ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ที่พิสูจน์ได้ว่าการใช้สื่อผ่านจอ จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี แนะให้ควรหลีกเลี่ยงหน้าจอทุกชนิด เพราะจะทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า พูดช้า สมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์ยากขึ้น ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และมีแนวโน้มมีพฤติกรรมก้าวร้าว รวมทั้งเกิดภาวะออทิสติกได้
จากข้อมูลของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ยังพบว่า 80 % ของเด็กและเยาวชนไทย เจอภัยคุกคาม หลอกลวงจากโลกอินเทอร์เน็ต และมีข้อมูลจากวงเสวนาที่พบว่า เด็กไทยจำนวนมากถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และถูกคิดค่าบริการเกมโดยไม่รู้ตัว
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เริ่มตื่นตัว เตรียมเปิดแอปพลิเคชัน Net Care เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองใช้ควบคุมเด็กไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งควบคุมเวลาการใช้งานด้วย โดยจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดได้ในเดือนธันวาคมนี้
แม้มีความพยายามควบคุมการเข้าถึงสื่อที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน แต่วิธีที่ดีที่สุด คือผู้ปกครองต้องให้ความรัก ความอบอุ่น พยายามหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวให้มาก เพื่อสร้างปฎิสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้ทันโลก รู้ทันสื่อ และรู้จักใช้สื่อให้เป็นประโยชน์
ทีมข่าวเศรษฐกิจ รายงาน