กระบวนการไกล่เกลี่ยทำคนผิดลอยนวล จวกคนพิการมักถูกละเลย
ผิดหวังนายร้อยตำรวจหญิงไม่ตอบโจทย์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเวทีเสวนา “ปัญหา ความต้องการและข้อเสนอแนะของผู้หญิงต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” เนื่องในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อสตรี น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดทำรายงานเพื่อรวบรวมปัญหาความต้องการของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้นทาง โดยทำการศึกษาจากผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง และผู้ที่มาขอรับบริการจากมูลนิธิฯ พบว่า กว่า 60% เป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีเอาผิด แต่ที่น่าห่วงคือ 40% ไม่พบว่ามีการดำเนินคดี เพราะต้นทางคือ ตำรวจให้ไกล่เกลี่ยยอมความ เมื่อผู้ทำผิดไม่ต้องถูกดำเนินคดีทำผิดแล้วกฎหมายไม่ลงโทษจะย่ามใจทำซ้ำ
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯได้ตรวจสอบปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง พบว่า ในชั้นพนักงานสอบสวนมีปัญหาความล่าช้า ทัศนคติที่มองความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ผู้หญิงกลุ่มเฉพาะพิการทางสายตา ทางการได้ยิน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย คนกลุ่มนี้เมื่อถูกข่มขืน หากไปแจ้งความที่โรงพักจะไม่มีล่ามภาษามือ ไม่มีคนช่วยสื่อสาร อีกทั้งยังพบปัญหาผู้เสียหายต้องนำใบตรวจร่างกายไปตรวจร่องรอยการข่มขืนที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างมาก
ขณะที่นางทิชา ณ นคร ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ช่วงที่มีการผลักดันให้นายร้อยตำรวจผู้หญิงเราหวังมาตลอดว่าพนักงานสอบสวนหญิงจะเป็นกลไก เป็นนวัตกรรมของกระบวนการยุติธรรม แต่กลับผิดหวัง จนถึงปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง.