หมอชี้พี้ยานาน10ปีเสี่ยงสมองพิการถาวร
หมอชี้ พี้ยาแค่เดือนเดียว สมองส่วนคิดถูกทำลาย แต่ถ้าเสพนาน5-10 ปี เสี่ยงสมองพิการถาวร เลิกได้แต่หายกลับมาไม่เหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การใช้ยาเสพติดมีผลกระทบต่อสมอง 2 ส่วน คือ สมองส่วนคิด และสมองส่วนอยาก โดยยาและสารเสพติดจะเข้าไปกระตุ้นสมองให้หลั่งโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุขออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีความสุขอย่างมากและรวดเร็ว เกิดความพึงพอใจมากกว่าปกติ แต่เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้เสพมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า จึงพยายามแสวงหายาและสารเสพติดมาใช้ซ้ำเรื่อยๆ ซึ่งการใช้บ่อยๆ ทำให้สมองส่วนคิดถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป จนสมองส่วนอยากอยู่เหนือสมองส่วนคิด ทำให้ทำอะไรตามใจตามอารมณ์ ผู้เสพยาและสารเสพติดจึงมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด อาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ยอมทำทุกวิถีทางให้ได้ยาเสพติดมาเสพ ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและสังคม
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า การเสพยาเสพติดจะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งพบว่าเกิดได้หลังเสพเพียง 1 เดือน ยิ่งเข้าสู่การบำบัดรักษาช้าจะยิ่งทำให้เซลล์สมองถูกทำลายมากขึ้น ซึ่งหากเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านสมอง เช่น ระดับสติปัญญาต่ำ หรือมีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ มีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์ที่มีโอกาสจะเกิดโรคทางจิตเวช ยาเสพติดยิ่งทำให้อาการทางสมองที่ผิดปกติแสดงออกรุนแรงมากขึ้น ทำให้สูญเสียความทรงจำ คล้ายคนสมองเสื่อม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เกิดความผิดปกติทางจิตเวชจากภาวะสมองพิการ อย่างไรก็ตามหากหยุดเสพตั้งแต่ที่เพิ่งเริ่มเสพไม่นาน และเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง สมองจะมีโอกาสฟื้นฟูเป็นปกติมากขึ้น
“ในรายที่เสพยาและสารเสพติดมานานกว่า 5 -10 ปี เข้ามารักษาช้า สมองจะถูกทำลายกลายเป็นโรคสมองพิการถาวร โอกาสที่สมองจะกลับมาเป็นปกติเป็นไปได้ยาก แม้สามารถเลิกเสพได้ก็อาจสายเกินไป เพราะไม่สามารถใช้สมองเพื่อเรียนหนังสือหรือทำงานได้อย่างเช่นคนปกติทั่วไป” นพ.สรายุทธ์ กล่าว และว่า หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติฯจังหวัดปทุมธานี และรพ.ธัญญารักษ์ ทั้ง 6 แห่ง หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th