“สภาสังคมสงเคราะห์”สร้างอาชีพให้ผู้พิการจัดอบรมทักษะช่างฝีมือ อาหาร และศิลปะประดิษฐ์
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศล จัดอบรมทักษะอาชีพให้กับผู้พิการ และครอบครัว ตั้งแต่วันที่ 24 – 26 เมษายน 2562 โดยในวันพุธที่ 24 เมษายน 2562 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ ชั้น 2 ม.สวนดุสิต กรุงเทพฯ ได้รับเกียรติจาก พลเอกสิงหา เสาวภาพ ประธานสภาสงเคราะห์ฯ เป็นประธานเปิดงาน
ผศ.เอกพล อ่อนน้อมพันธุ์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.)กล่าวถึง โครงการบริการวิชาการฝึกอบรมทักษะช่างฝีมือ การทำอาหาร และศิลปะประดิษฐ์ สำหรับคนพิการ ว่า โครงการดังกล่าวนี้ จัดขึ้นร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศล ตั้งแต่วันที่ 24 – 26 เมษายน 2562 ซึ่งหลักสูตรสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มสด. ถือเป็นหลักสูตรอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและโดดเด่นบนพื้นฐานของงานทางด้านคหกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ศาสตร์ทางด้านอาหารและโภชนาการ ด้านศิลปะประดิษฐ์และงานสร้างสรรค์ ด้านพัฒนาการมนุษย์และครอบครัว ด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และการจัดการบ้านและที่อยู่อาศัย จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวบริการวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศไทย
โดยทางหลักสูตรฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือคนพิการเป็นอันแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีบิดามารดา หรือบุตรหลานพิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้น้อย และเป็นภาระอย่างมาก ต่อผู้ที่ดูแลซึ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านได้ ครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ครอบครัวอ่อนแอและขาดความมั่นคง
จึงจัดการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นให้คนพิการ แบ่งเป็นการฝึกอบรมทักษะช่างฝีมือ การทำอาหาร และศิลปะประดิษฐ์สำหรับคนพิการ / ผู้ดูแลคนพิการ / คนในครอบครัวของคนพิการรวม จำนวน 6 หลักสูตร อาทิ การทำห่อหมก การทำข้าวเหนียวมูนหน้าต่างๆ การทำปาท่องโก๋ ศิลปะการผับผ้าเช็ดหน้า การร้อยมาลัยดอกไม้สด และการจัดดอกไม้สด โดยนำศักยภาพของคณาจารย์ นักศึกษาพิเศษ
สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างโอกาสและสนับสนุนให้คนพิการ /ผู้ดูแลคนพิการ / คนในครอบครัวของคนพิการ มีความรู้และทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง เน้นเป็นอาชีพอิสระที่สามารถทำได้ในครอบครัว และสามารถทำอยู่ที่บ้านได้ ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวที่ต้องดูแลคนพิการในบ้าน เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อเกิดเป็นอาชีพและรายได้ต่อไป
ทางด้าน นางวิไลวรรณ ลายถมยา ประธานคณะกรรมการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ กล่าวเปิดงานว่า กราบเรียน พลเอก สิงหา เสาวภาพ ประธานสภาสังคม สงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของคณะกรรมการจัดงาน และผู้เข้ารับการฝึกอบรมดิฉันขอขอบพระคุณท่านประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในวันนี้
คณะกรรมการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายที่สำคัญด้านหนึ่งของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้แก่ คนพิการ เพื่อให้คนพิการได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการมีรายได้ของคนพิการ แม้ขณะนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2550 จะช่วยให้คนพิการได้ทำงานใน สถานประกอบการต่างๆ แต่ยังมีคนพิการอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ เนื่องจากมีความพิการรุนแรง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย ซึ่งคนในครอบครัวต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านได้ ครอบครัวจึงขาดรายได้และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
คณะกรรมการฯ จึงเห็นสมควรจัดการฝึกอบรมวิชาชีพ ระยะสั้นให้คนพิการ /ผู้ดูแลคนพิการ / คนในครอบครัวของคนพิการ โดยได้รับความกรุณาจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพล อ่อนน้อมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัย สวนดุสิต ผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญด้านอาหารไทย พร้อมด้วยทีมงานร่วมกันพิจารณาการจัดฝึกอบรมทักษะช่างฝีมือการทำอาหาร และศิลปะประดิษฐ์ให้คนพิการ / ผู้ดูแลคนพิการ / คนในครอบครัวของคนพิการ เพื่อให้มีความรู้และทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงเป็นอาชีพอิสระหรืออาชีพเสริม โดยงบประมาณในการจัดการฝึกอบรมฯในครั้งนี้ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศล ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ มีจำนวน 100 คน ประกอบด้วย คนพิการจากองค์กรคนพิการต่างๆ คนพิการอิสระ ผู้ดูแลคนพิการ นักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ การฝึกอบรมฯ มีกำหนดระยะเวลา 3 วัน แบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการทำอาหาร ประกอบด้วย การทำห่อหมก (ปลาทะเลและปลาน้ำจืด) การทำข้าวเหนียวมูลหน้าต่างๆ และการทำปาท่องโก๋ นำทีมวิทยากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพล อ่อนน้อมพันธุ์ หลักสูตรที่ 2 ศิลปะประดิษฐ์ ได้แก่ ศิลปะการพับผ้าเช็ดหน้า การร้อยมาลัยดอกไม้สด และการจัดดอกไม้สด นำทีมวิทยากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พรยุพรรณ พรสุขสวัสดิ์
ขอบคุณ... http://www.lokwannee.com/web2013/?p=355565 (ขนาดไฟล์: 178)