จับจริงไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
เข้มลดอุบัติเหตุ เจ็บ-ตาย เข้าพรรษา กระทรวงวัฒนธรรมชวนตัดวงจรอบายมุข
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. กล่าวในพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษางานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ประจำปี 2562 ว่า กรมการศาสนา ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด วธ. ภาคเอกชน สภาวัฒนธรรมเขตกรุงเทพมหานคร องค์กรเครือข่ายเผยแผ่พุทธศาสนาในสถานศึกษา และชุมชนคุณธรรม (พลังบวร) ร่วมเป็นเจ้าภาพนำเทียนพรรษาไปถวายยัง 10 วัด ในกรุงเทพมหานคร และตลอด 3 เดือนของการเข้าพรรษา ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ได้น้อมนำคำสอนมาใช้ดำเนินชีวิต และเข้าวัดปฏิบัติธรรม รักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ประมาณการภาพรวมทั้งประเทศ พบว่าในช่วงเข้าพรรษามียอดบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เฉลี่ยลดลง 50-60 รายต่อวัน ลดผู้พิการได้ 2-3 คนต่อวัน ตัวเลขนี้ชี้ชัดว่า เข้าพรรษาช่วยตัดวงจรการดื่ม ทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง การเสียชีวิตลดลงกว่าช่วงปกติ หมายถึงช่วง 3 เดือนนี้ จะช่วยรักษาชีวิตผู้พิการได้ 270 ราย และสกัดผู้เสียชีวิตได้กว่า 200 ราย จึงอยากเชิญชวนให้ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนที่มาจากการดื่มแล้วขับ และเริ่มต้นลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 3 เดือนจนถึงตลอดชีวิต
พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า ตำรวจจราจรมีมาตรการคุมเข้มลดการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามจุดสำคัญรอบกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางออกต่างจังหวัด พร้อมมีมาตรการใหม่ คือการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ทางม้าลาย หากพบผู้ขับขี่ไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลายให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที หรือหากตรวจพบ
ผู้ขับขี่เมาแล้วขับรถชนคนข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะต้องโทษถึงขั้นจำคุกหรือรอลงอาญา บทลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เมาแล้วขับ จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ พักใบอนุญาต 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงตรวจร้านค้าที่มีการจำหน่ายสุราต้องปฏิบัติ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด.