การผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก (Disability Inclusive Development : DID)
ผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ได้พิจารณาศึกษาติดตามการขับเคลื่อนการบูรณาการประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก (Disability Inclusive Development :DID) เรื่องนี้แม้จะเป็นนามธรรม เนื่องจากสังคมไทยมักจะเข้าใจว่าประเด็นคนพิการต้องเกี่ยวข้องกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ พก. เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วประเด็นคนพิการควรถูกผนวกเข้าไปอยู่ในอำนาจหน้าที่ของทุกกระทรวง ทบวง กรม กล่าวคือ ควรนำประเด็นคนพิการผนวกรวมกับนโยบาย แผนงาน และโครงการของทุกกระทรวง ทบวง กรม แต่ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งนี้ พก. มีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้ประเด็นคนพิการกระจายไปสู่ทุกกระทรวง ทบวงกรม ให้ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ คณะอนุกรรมาธิการได้ดำเนินการส่งแบบสำรวจไปยังทุกหน่วยงานที่รับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน รวมกว่า ๔๐๐ หน่วยงาน เพื่อสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลักก่อนการพิจารณางบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่ามีหน่วยงานที่ไม่มีงบประมาณด้านคนพิการเลย กว่า ๕๐ หน่วยงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่สามารถบูรณาการประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลักได้และไม่สอดคล้องกับนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องมีกลไกที่จะทำให้องค์กรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐเห็นว่าทุกหน่วยงานมีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามอำนาจหน้าที่ของตนเอง ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายเฉพาะสำหรับคนพิการภายใต้กระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง หรือกรมใดกรมหนึ่ง จึงไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างระบบการติดตามการขับเคลื่อนการบูรณาการประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก ด้วยการนำประเด็นคนพิการไว้ในวาระการปฏิรูปประเทศไทยทั้ง ๑๑ ด้าน รวมทั้งต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานในการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง แผนงานและโครงการของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีความเข้าใจและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าว อันจะช่วยให้การขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานเกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม
เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานบูรณาการประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลักอย่างเป็นรูปธรรม มีข้อเสนอแนะต่อการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก ดังนี้
๑.การกำหนดกฎหมาย นโยบาย แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ควรต้องคำนึงถึงหลักการของการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก(Disability Inclusive Development : DID) ๔ ประการ ดังนี้ (๑) การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เท่าเทียม และมีประสิทธิผลของคนพิการและองค์กรด้านคนพิการ (Full and Effective Participation) (๒) การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อมในทุกมิติ (Accessibility) (๓) การเสริมพลังอำนาจหรือสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนพิการได้เข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มศักยภาพ (Empowerment / Capacity Building) และ (๔) การขจัดการเลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) โดยจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ กล่าวคือ คนพิการจะต้องมีทั้งบทบาทหน้าที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนากระแสหลัก ต้องมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้การขับเคลื่อนกฎหมายและนโยบายเป็นไปตามสิทธิ ความต้องการจำเป็นและเจตจำนงของคนพิการซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่างตามแต่ละประเภทความพิการ
๒. การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) ต้องครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยการผนวกรวม ๗ เป้าหมาย ๘ เป้าประสงค์ และ ๑๑ ตัวชี้วัด ที่มีการอ้างอิงถึงคนพิการหรือความพิการโดยตรง ไว้ในการจัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืน ๓๐ ลำดับแรก ที่คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกำหนด รวมถึงควรขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities:CRPD) โดยอาศัยการปฏิบัติตามข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานฉบับแรกของประเทศไทย (Concluding observationson the initial report of Thailand: COB) ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติด้วย
๓. การเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติต่างๆ ต้องจำแนกข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการหรือความพิการอย่างเป็นระบบด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าประสงค์ที่ ๑๗.๑๘ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ข้อที่ ๓๑ โดยแนะนำให้ใช้ Washington Group Short set of Questions ซึ่งเป็นระเบียบวิธีในการจำแนกข้อมูลเรื่องคนพิการหรือความพิการอย่างง่าย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลและสถิติเหล่านั้นไปกำหนดกฎหมาย นโยบาย โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ
๔. ศึกษาและกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ มาตรา ๒๒ แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่บัญญัติว่า “ให้หน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องใดมีหน้าที่ให้การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามอำนาจหน้าที่นั้น” และมาตรา ๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า “ในการจัดสรรงบประมาณรัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล (ความพิการ) ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม” รวมถึงการผนวกรวมให้คนพิการเป็นกลุ่มเป้าหมายในนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องด้วย
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เลขที่ 499 อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น เขตบางซื่อ กทม.10800 email :dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook : กมธ พัฒนาสังคม หรือกลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ โทร. 02-8319225-6 โทรสาร 02-8319226 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300