พระมหากรุณาของกรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานแก่ผู้พิการทางสายตา

พระมหากรุณาของกรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานแก่ผู้พิการทางสายตา

การเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ไปยังมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นับเป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ที่นับวันจะมีความรุดหน้า สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้พิการทางสายตาไทย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานที่ทรงให้การสนับสนุนมูลนิธิดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อปี 2502

มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางการเห็น โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ และศาสนา ในด้านการศึกษาและพัฒนาสมรรถภาพ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนรอบรู้ในวิวัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เพื่อสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้เฉกเคนเช่นปกติทั่วไป

พระมหากรุณาของกรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานแก่ผู้พิการทางสายตา

พระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้พิการทางสายตา

สำหรับการดำเนินงานของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นคุณค่าของของผู้พิการทางสายตา ที่สามารถมีศักยภาพในการเรียนหนังสือ มิใช่เพียงอยู่บ้านเฉยๆ เท่านั้น เพราะเมื่อพวกเขาเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาก็จะสามารถดูแลตัวเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีพระราชดำริให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สร้างโรงเรียนคนตาบอดในกรุงเทพฯ ขึ้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อผู้พิการทางสายตา

ทั้งนี้ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ กล่าวคือเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางการเห็น ในด้านการศึกษาและพัฒนาสมรรถภาพ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนรอบรู้ในวิวัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เพื่อจะได้มีโอกาสที่ดี สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีเกียรติและมีความสุข เช่นคนสายตาปกติทั่วไป

ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระมหากรุณาต่อผู้พิการทางสายตา ทรงสนับสนุนโครงการประกวดการอ่านและเขียนอักษรเบรลล์แห่งชาติ ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยล่าสุดจัดเป็นครั้งที่ 29 ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และทรงสนับสนุนผู้พิการในประเทศไทยมาโดยตลอด

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “เปิดบ้านมูลนิธิ (Open House) : แสงสว่างสู่ทางฝัน” เป็นการส่วนพระองค์ จัดโดยมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อเผยแพร่พันธกิจและกิจกรรมสร้างสรรค์ของมูลนิธิที่สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความเข้าใจในชีวิตของผู้พิการทางการเห็น ผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่มองเห็นด้วยตาสัมผัสได้ด้วยใจ ณ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรวิดิทัศน์ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิฯ ผลการดำเนินงานของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีความก้าวหน้าทันสมัย ขยายการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ออกเป็น 6 ส่วน คือ สำนักบริหารมูลนิธิโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพรานและศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ แล้วเสด็จฯ ไปยังศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ทอดพระเนตรการแสดงสภาพสภาวะอากาศ Hot room, Green room, Game room และภาพวาดจากฝีมือศิลปินและศิษย์ รวมทั้งการทำกิจกรรมศิลปะและดนตรีของนักเรียน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรห้อง Liblouis (ลิบหลุยส์) เครื่องแปลภาษาอักษรเบรลล์ภาษาไทยเพื่อใช้งานร่วมกับซอฟแวร์ จัดการอักษรเบรลล์ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น และทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการและผู้บริหารมูลนิธิฯ ก่อนเสด็จฯ กลับ

พระมหากรุณาของกรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานแก่ผู้พิการทางสายตา

ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี

สำหรับระบบLiblouis (ลิบหลุยส์) เครื่องแปลอักษรเบรลล์และภาษาไทยนี้ จัดทำโดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการใช้อักษรเบรลล์แห่งชาติ ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม กำกับ ติดตาม ให้องค์กรคนตาบอดในประเทศไทย ใช้อักษรเบรลล์อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ระบบ Liblouis (ลิบหลุยส์) เป็นระบบที่ทำให้การจัดทำเอกสารอักษรเบรลล์ และการอ่านอักษรเบรลล์ ภาษาไทย ง่ายและสะดวกขึ้นมาก เพราะไม่ต้องผ่านระบบการใช้ซอฟต์แวร์ แปลงก่อนส่งพิมพ์เป็นเอกสารอักษรเบรลล์ เหมือนสมัยก่อน

ปัจจุบันสามารถส่งข้อมูลอักษรปกติ พิมพ์ตรงในเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่รองรับทันที และเช่นเดียวกันในการอ่านสามารถนำเครื่องแสดงผลเร็วไปเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์และอ่านเป็นอักษรเร็วได้โดยตรง เพราะ Liblouis คือซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ทำหน้าที่แปลงข้อความปกติให้เป็นอักษรเบรลล์

นอกจากนี้ ยังสามารถแปลงกลับจากอักษรเบรลล์ เป็นอักษรปกติได้ด้วย ซึ่งระบบสามารถรองรับหลายภาษาที่มีการพัฒนาขึ้นและส่งเข้าไปเก็บไว้ในระบบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับห้องสมุดสาธารณะของโลกที่ผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านอักษรเบรลล์ สามารถดึงอักษรเบรลล์ไปใช้ได้

รวมทั้งภาษาไทยที่ได้มีการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน และได้ส่งเข้าไปในระบบเป็นภาษาที่ 80 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาจากมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และที่เรียกระบบนี้ว่า ระบบ Liblouis เพื่อเป็นการให้เกียรติ Louis Braille ผู้คิดค้นอักษรเบรลล์ ขึ้นเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ซึ่งสามารถมองได้ว่าระบบ Liblouis เป็นตัวกลางในการเชื่อมโลกของคนที่มีการเห็นและใช้อักษรปกติเข้ากับโลกของคนตาบอด ที่ใช้อักษรเบรลล์ให้เข้าถึงซึ่งกันและกันได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ผ่านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้านอักษรเบรลล์ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ลิบหลุยซ์ จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านเทคโนโลยีของผู้พิการทางสายตาไทยที่ทันสมัยในยุคนี้

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/news/royal/1171970

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 เม.ย.68
วันที่โพสต์: 3/04/2568 เวลา 14:00:56 ดูภาพสไลด์โชว์ พระมหากรุณาของกรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานแก่ผู้พิการทางสายตา