เร่งทำ"อารยสถาปัตย์"อุทยานฯ อำนวยความสะดวกคนพิการ
“รมว.ทส.”สั่งเร่ง”อารยสถาปัตย์”ในอุทยานฯ อำนวยความสะดวกคนพิการ พร้อมปรับปรุง”เขาใหญ่-เจ็ดสาวน้อย”เพิ่มรับกีฬาคนพิการชิงแชมป์โลกปีหน้า
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ว่าที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรฯ ให้การต้อนรับทีมฑูตอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design Ambassadors นำโดย นายกฤษณะ ละไล เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมให้อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญและอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงฯ ให้มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ สำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้พิการ หรือผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้รถเข็น โดยมีวาระเร่งด่วน 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เนื่องจากในเดือน ก.พ.2563 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพหลักจัดการเเข่งขันกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหว ชิงเเชมป์โลก (IWAS WORLD GAMES 2020) ที่จ.นครราชสีมา ซึ่งมีนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 2,500 คน เดินทางมายังประเทศไทย ดังนั้น อุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญใน จ.นครราชสีมา ควรพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
โดยนายวราวุธ กล่าวว่า การปรับปรุงสถานที่ต่างๆ ให้เป็นอารยสถาปัตย์ ใช้เวลาและงบประมาณไม่มาก แต่สิ่งที่จะต้องใช้มากคือ ใช้ใจในการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น การพัฒนาสถานที่ภายในอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นห้องพัก ห้องน้ำ หรือทางลาดในการเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยว จะกำชับเจ้าหน้าที่ เร่งปรับปรุงสถานที่ต่างๆ เพื่อรองรับเด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้พิการ หรือผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้รถเข็น ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้าน นายธัญญา กล่าวว่า กรมอุทยานฯได้เริ่มโครงการพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวลในอุทยานแห่งชาติ โดยได้เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยอุทยานแห่งชาติมีห้องน้ำเพื่อผู้พิการ 167 อาคาร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 95 แห่ง มีการก่อสร้างทางลาด (Ramp) เข้าอาคารประเภทที่ใช้เพื่อการบริการ นักท่องเที่ยว ได้แก่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร จำนวน 86 อาคาร ในอุทยานแห่งชาติ 53 แห่ง ต่อมาในปี 2557 เป็นการเริ่มดําเนินการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้ใช้รถเข็น ซึ่งปัญหาและอุปสรรคที่สําคัญ คือ ด้วยปัจจัยทางด้านภูมิประเทศที่มีความลาดชันสูง จึงทําให้อุทยานแห่งชาติไม่สามารถจัดทําทางลาดเข้าอาคารที่ให้บริการได้ และสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นสิ่งก่อสร้างเดิมที่ไม่ได้มีการออกแบบไว้สําหรับผู้ใช้รถเข็น ดังนั้นสํานักอุทยานแห่งชาติจึงได้ดําเนินการแก้ไขแบบแปลนสิ่งก่อสร้างเดิมและมีการออกแบบ สิ่งก่อสร้างใหม่ เพื่อให้รองรับกับมาตรการผลักดันการจัดสิ่งอํานวยความสะดวกให้คนพิการ รวมทั้ง ผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และสตรีมีครรภ์ ทั้งนี้ในปี 2561 อุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ดําเนินการตามกรอบกิจกรรม เกณฑ์มาตรฐาน มีการรายงานการเข้าถึงสิ่งอํานวยความสะดวก ของผู้ใช้รถเข็นในอุทยานแห่งชาติ พบว่ามีบริเวณหรือจุดที่มีทางลาดของสิ่งอํานวย ความสะดวกของผู้ใช้รถเข็นในอุทยานแห่งชาติ ทั้งหมด 316 จุด ขนาดของความกว้างของทางลาด น้อยกว่า 1.2 เมตร จํานวน 75 จุด มากกว่าเท่ากับ 1.2 เมตร จํานวน 241 จุด ขนาดของความยาว ของทางลาดของทางลาด น้อยกว่าเท่ากับ 9 เมตร จํานวน 261 จุด มากกว่า 9 เมตร จํานวน 55 จุด และความลาดชันของทางลาด น้อยกว่าเท่ากับ 8 เมตร จํานวน 281 จุด มากกว่า 8 เมตร จํานวน 31 จุด
ด้านนายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุและ ที่ใช้รถเข็นเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประมาณ 6,000 คนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่ม สูงขึ้นตามโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงได้จัดทําโครงการ ประชาสัมพันธ์ เรื่อง แหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในอุทยานแห่งชาติขึ้น โดยจะดําเนินการจัดทําสื่อประเภทสารคดีเชิงท่องเที่ยว และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาหรือปรับปรุง สิ่งอํานวยความสะดวกในรูปแบบอารยสถาปัตย์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี 2. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และ 3. อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งคาดว่าจะมีการเผยแพร่สารคดีดังกล่าวได้ในปลายปี 2562 นี้