สพฉ.เปิดสาย1669รับ'โพดุล'ถล่ม แนะเตรียมกระเป๋ายังชีพให้พร้อม
สพฉ.จัดระบบสายฉุกเฉิน 1669 พร้อมรับ “โพดุล” ถล่มอีสาน ระบุสายด่วนพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานภาคีเครือข่ายมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินชง เตือนพื้นที่เสี่ยงเตรียมกระเป๋ายังชีพ-ยาให้พร้อม
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานจากพายุไต้ฝุ่นโพดุลที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างว่า เราได้จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคอีสานหลากลหายจังหวัดในขณะนี้อย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบคู่สาย 1669 ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสำหรับประชาชนที่อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันและอยู่ในพื้นที่ที่เกิดพายุต้องคอยฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัย โดยการตรึงประตู หน้าต่าง ให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง และขณะฝนตกฟ้าคะนอง ห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ และห้ามโทรศัพท์เด็ดขาด หากรู้สึกว่าบ้านกำลังจะพังให้ ห่อตัวเองด้วยผ้าห่ม หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือที่แข็งแรงมั่นคง
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการป้องกันเหตุน้ำป่าน้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง ควรสวมเสื้อชูชีพ โดยหลีกเลี่ยงการเดินผ่านแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินควรใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อสังเกตว่าดินตื้นลึกแค่ไหน และห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม แต่หากเกิดน้ำท่วมระหว่างอยู่ในรถ และน้ำขึ้นสูงรอบๆ รถ ให้รีบออกจากรถโดยเร็ว
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานควรจัดเตรียม กระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน และจัดทำรายการสิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียม โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ 1.สิ่งของยามฉุกเฉิน คือ น้ำดื่ม มีดอเนกประสงค์ กระดาษชำระ วิทยุใส่ถ่าน เชือก เทปกาวสะท้อนแสง ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว เสื้อผ้า ไฟฉาย นกหวีด เทียนไข ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ ถุงพลาสติก ปากกาเมจิค และชุดปฐมพยาบาล ประกอบด้วย หน้ากาก ยาฆ่าเชื้อ สำลี ผ้าก็อซ แหนบ ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ยา 2.สิ่งของมีค่า คือ เอกสารหลักฐาน และสิ่งสำคัญในชีวิต อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ ทะเบียนบ้าน สมุดธนาคาร หนังสือเดินทาง เงินสด กุญแจบ้าน กุญแจรถ โทรศัพท์มือถือ ที่ชาร์ตโทรศัพท์มือถือ แว่นสายตา สมุดบันทึก 3.สิ่งของจำเป็น และของใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีวิต อาทิ อาหารแห้งพร้อมรับประทาน ชุดชั้นใน หนังสือพิมพ์ (สามารถนำมาใช้เป็นผ้าห่มเพื่อกันหนาว นำมาพับเป็นจาน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือนำมาม้วนทำเป็นเฝือกฉุกเฉินได้) สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน จาน ชาม ช้อน ส้อม ขันโลหะ เข็มกลัด กระจกพกพา ถ่านสำรอง อุปกรณ์กันฝน เข็มกลัด นอกจากนี้สำหรับผู้หญิงควรมีผ้าอนามัย และสตรีมีครรภ์ควรพกสมุดฝากครรภ์และผ้าขาวบางติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อใช้ในกรณีคลอดฉุกเฉิน อีกทั้งควรจัดเตรียมผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนผู้พิการควรเตรียมบัตรประจำตัวคนพิการและสมุดบันทึกการดูแลรักษาไว้ติดตัวตลอดเวลาด้วย และสำหรับเด็กทารกควรเตรียมนมผง ขวดนม อาหารเสริม ผ้าอ้อม สมุดบันทึกการฉีดวัคซีน และของเล่น
"ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังและต้องรับประทานยาเป็นประจำ แต่ไม่สามารถเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลได้ หรือยาถูกน้ำท่วมหมดนั้น ไม่ควรขาดยาเพราะจะเกิดถาวะแทรกซ้อนต่างๆ ให้ติดต่อประสานไปยังโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ หรือติดต่อที่ สายฉุกเฉิน 1669 ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือได้" นพ.ไพโรจน์กล่าว
ด้านพล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” ที่ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศไทยบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ใกล้ทางน้ำไหล ทางศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกส่วน ในการประเมินสถานการณ์ และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที ในการบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชน โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 สำนำงานพัฒนาภาค 5 ได้จัดยานพาหนะพร้อมชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็วเข้าช่วยเหลือราษฎร ในพื้นที่อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ดในการขนย้ายคนและทรัพย์สินไปยังที่ปลอดภัย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองร้อยเอ็ดเป็นวงกว้าง ระดับน้ำเฉลี่ย 60-90 เซนติเมตร พร้อมทั้งเข้าสำรวจและติดตามช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จัดชุดเข้าสำรวจและติดตามวางแผนช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้นได้มีการนำรถสะพานเครื่องหนุนมั่นเข้าไปเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงถูกตัดขาดจากกระแสน้ำ ได้แก่ พื้นที่บ้านท่างาม บ้านท่าโพธิ์ บ้านท่าเยี่ยม และบ้านท่าทางเกวียน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์กระแสน้ำหลากเข้ากัดเซาะจนถนนถูกตัดขาด ก็จะสามารถดำเนินการได้โดยทันที
พล.ต.กฤษณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้จัดชุดกำลังพลเคลื่อนที่เร็วเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อออกให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่โดยไม่ต้องรอการร้องขอ เพราะกองทัพตระหนักเสมอว่า ทหารพร้อมเป็นที่พึ่งและจะยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ตลอดไป ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน สามารถติดต่อศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพ ในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง