คนพิการหยุดเดินชั่วคราวขึ้นศาลปทุมฯ สู้คดีโกงเงิน
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการพักกิจกรรมเดินต้านทุจริตชั่วคราว เพื่อไปขึ้นศาลจังหวัดปทุมธานี หลังถูกข้าราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีเปิดโปงทุจริตค่าจ้างงานคนพิการ
วันนี้ (12 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ และครอบครัวคนพิการ หยุดกิจกรรม “เดินต้านทุจริต พิทักษ์สิทธิ์คนพิการ 600 กิโลเมตร พิทักษ์สิทธิ์ เอาผิดคนโกง” ไว้ชั่วคราว 2 วัน เนื่องจากวันนี้พวกเขาต้องมาขึ้นศาลจังหวัดปทุมธานี กรณีถูกข้าราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ฟ้องร้องนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จากกรณีการออกมาเปิดโปง “นายใหญ่” ผู้อยู่เบื้องหลังการทุจริต หักหัวคิวค่าจ้างงานคนพิการ มูลค่าความเสียหาย 1,500 ล้านบาท มาตรา 33 และมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ กล่าวว่า ครอบครัวคนพิการเดินเข้ากรุงเทพมหานครได้ 111 กิโลเมตร จาก 600 กิโลเมตร แต่ต้องพักการเดินไว้ก่อน เพราะมีคดีต้องขึ้นศาล พร้อมยืนยันว่าแม้จะถูกฟ้องร้องถึง 5 คดี แต่ไม่เสียกำลังใจ เพราะหลังออกมาทำกิจกรรมเดินต้านโกง ก็เริ่มมีผู้เสียหายออกมาร้องเรียนว่าถูกหักหัวคิวค่าจ้างเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ได้รับเงินเพียงเดือนละ 4,000 - 6,000 บาทต่อเดือน จากที่จะได้รับค่าจ้าง 9,125 บาท
ขณะที่นางสำรวม กู้ภักดีประเสริฐ ชาวจังหวัดนนทบุรี และผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาหลายครอบครัว เดินทางมาให้กำลังใจเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ โดยบอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอส ว่า มีผู้เสียหายที่อยู่ในกลุ่มจ้างงานมาตรา 35 รูปแบบจ้างเหมาบริการ ของชมรมคนพิการบางแห่ง ไม่ต่ำกว่า 10 คน ถูกหักหัวคิวค่าจ้างงานเช่นกัน
ขณะนี้กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เขียนคำร้องไปยังเครื่อข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการให้ตรวจสอบ ยืนยันว่าผู้ปกครองคนพิการได้รับเงิน 4,000 บาทต่อเดือน รูปแบบไม่ได้ยึดสมุดบัญชี ATM แต่ถ้าเงินเข้าบัญชีเดือนละ 9,125 บาท ผู้ปกครองคนพิการจะต้องทอนเงินกลับไปให้เจ้าหน้าที่ของชมรมฯ กว่า 5,000 บาททุกเดือน โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดถึงต้องหักเงินเป็นจำนวนมาก
นางสำรวม กล่าวอีกว่า เธอยังได้รับการติดต่อจากชมรมคนพิการแห่งหนึ่ง ให้รวบรวมสมาชิกที่มีคนพิการทางสติปัญญาให้ได้ 15 คน และจะทำโครงการจ้างงานมาตรา 35 ให้ เป็นเงิน 1,500,000 บาท แต่จะต้องทอนเงินกลับไปให้เขาหลังจากเงินเข้าบัญชีเรียบร้อย 200,000 บาท ซึ่งเธอพบข้อพิรุธว่าอาจจะเป็นการทุจริต เพราะต้องทอนเงินคนพิการกลับไปให้อีก จึงปฎิเสธเข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้ขณะนี้สมาชิกในกลุ่มผู้ปกครองคนพิการที่เธอทำงานด้วยยังไม่มีรายได้ อาชีพจากการจ้างงานมาตรา 35 ซึ่งหากเข้าร่วมโครงการมีการฝึกอาชีพต่อเนื่องก็จะทำให้พวกเขามีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
ด้านทนายความของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ระบุว่า ขณะนี้การโกงคนพิการเริ่มซับซ้อนมากขึ้น เพราะมีความพยายามที่จะปกปิดหลักฐาน หากหน่วยงานตรวจสอบ ป.ป.ช. หรือดีเอสไอ ไม่เร่งขยายผลตรวจสอบ เชื่อว่าจะมีการทำลายหลักฐานได้ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะคนพิการเป็นคนกลุ่มเปราะบาง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่กลับมีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายละเมิดสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ