ช่วยเติมเต็มหัวใจให้น้องหนู

ช่วยเติมเต็มหัวใจให้น้องหนู

วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านไปทำบุญ “เติมเต็มหัวใจให้น้องหนู” กันสักวันนะครับ ผมเพิ่งนำเงินบริจาค 8,000,000 บาท จากเพื่อนฝูงและกัลยาณมิตรที่ร่วมทำบุญกับผม ไปมอบให้กับ นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก สถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดหัวใจเด็กยากจนที่พิการมาแต่กำเนิด

สภาพโรงพยาบาลรัฐเป็นอย่างไร คงไม่ต้องบรรยาย คนไข้ยากจนแน่นทุกแผนก แผนกผ่าตัดหัวใจเด็กโรงพยาบาลราชวิถีก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่ญาติพี่น้องบางคนต้องนั่งกับพื้น เพราะที่นั่งไม่เพียงพอ ห้องตรวจคนไข้ ห้องผ่าตัดหัวใจ ห้องไอซียู ตั้งอยู่ใกล้กันชั้นเดียวกัน

คุณหมอพีระพัฒน์ ซึ่งเป็น หมอผ่าตัดหัวใจเด็ก เล่าให้ฟังว่า

เด็กที่หัวใจพิการมาตั้งแต่กำเนิดที่นี่ส่งมาจากทั่วประเทศ การผ่าตัดหัวใจเด็กมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่สามารถรองรับได้ เพราะที่นี่ใช้เครื่องมือผ่าตัดและยาที่ทันสมัยซึ่งแพงมาก ทำให้เด็กที่ได้รับการผ่าตัดมีชีวิตรอดสูงถึง 94% จึงต้องมีเงินทุนมูลนิธิ

มาสนับสนุน เด็กบางคนต้องได้รับการผ่าตัดหลายครั้ง แต่แพทย์ผ่าตัดหัวใจเด็กมีน้อย จึงทำให้มีคิวผ่าตัดยาวมาก ปกติคิวผ่าตัดคนไข้ที่ส่งต่อจะนานถึง 6 เดือน เพราะโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดหัวใจเต็มรูปแบบในประเทศไทยมีไม่เกิน 6 แห่งเท่านั้น

นับตั้งแต่ก่อตั้ง มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ขึ้นเมื่อปี 2540 ได้ช่วยผ่าตัดหัวใจเด็กยากจนที่พิการมาแต่กำเนิด 7,800 กว่าคนแล้ว โครงการสำคัญที่สุดก็คือ โครงการผ่าตัดหัวใจเด็ก 840 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558-สิงหาคม 2560 สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้จำนวนทั้งสิ้น 852 ราย และ โครงการผ่าตัดหัวใจเด็กภูฏาน 99 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

แต่ละปี โรงพยาบาลราชวิถี มีผู้ป่วยโรคหัวใจเข้ารับการรักษากว่า 23,000 คน เฉลี่ย 90 คนต่อวัน นับตั้งแต่ปี 2518 โรงพยาบาลราชวิถีผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมาแล้ว 67 ราย ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หัวใจอื่นๆ หลอดเลือด และปอด ปีละ 600–700 ราย ถือเป็น ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นสถาบันหัวใจแห่งแรกที่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกัน Domino Heart Transplantation ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย นอกจากนี้ โรงพยาบาลราชวิถี ยังเป็น สถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ที่เก่าแก่ที่สุดของกรมการแพทย์อีกด้วย

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา เป็นความผิดปกติจากการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ในตัวอ่อน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด โรคประจำตัวของแม่ ฯลฯ หัวใจที่พิการจะมีตั้งแต่ หัวใจไม่ครบ 4 ห้อง ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หลอดเลือดใหญ่มีขนาดเล็กผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจออกผิดที่ หลอดเลือดเกิน ฯลฯ

เดือนกันยายนปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยตัวเลขว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในไทยมีจำนวน 432,943 คน

อัตราเสียชีวิต 20,855 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงต่างๆมาจาก การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารการกิน การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และ การนอนพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ระบุว่า กลุ่มหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตของคนทั้งโลก เท่ากับประชากรโลกทุก 1 ใน 3 คน ตายเพราะโรคหัวใจ

ไปเห็นมาแล้ว ผมก็เก็บมาเล่าสู่กันฟัง เงินบริจาค 50,000–100,000 บาท อาจไม่มากสำหรับคนหลายคน แต่สามารถช่วยชีวิตเด็กให้มีหัวใจใหม่ และ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ใครอยากร่วมบริจาคก็เชิญนะครับ เดี๋ยวนี้บริจาคผ่าน QR Code ธนาคารกรุงไทย ก็ได้ เงินบริจาคจะถูกส่งไปยัง กรมสรรพากร เพื่อหักภาษีโดยอัตโนมัติ ผมขออนุโมทนาจิตกุศลของทุกท่านล่วงหน้าครับ.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1659696

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 14 ก.ย.62
วันที่โพสต์: 17/09/2562 เวลา 09:55:11 ดูภาพสไลด์โชว์ ช่วยเติมเต็มหัวใจให้น้องหนู