เปิดโมเดล...คนพิการต้องมีงานทำ
เมื่อไปเมื่อต้นปี 2557 มูลนิธินวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการสนับสนุนการจ้างคนพิการเชิงสังคม
เมื่อไปเมื่อต้นปี 2557 มูลนิธินวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการสนับสนุนการจ้างคนพิการเชิงสังคม หรือให้การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพอิสระ (ตามมาตรา 33 และ 35) เพื่อให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้าน สามารถพึ่งพาตนเองอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีทัดเทียมคนทั่วไป โดยต้องได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายกำหนด
ในปี 2562 สสส. และมูลนิธินวัตกรรมฯ ได้จัดงานเชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2562 พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่องค์กรภาคีร่วมขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม 6 องค์กร ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย สถาบันโค้ชไทยนอกจากนี้ยังได้มอบเกียรติบัตรเชิดชูสถานประกอบการที่ทำคุณประโยชน์ทางสังคม ด้านสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2562 จำนวน 160 บริษัท และมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน โครงการ “ตู้ชื่นใจ” เพื่อคนพิการ จำนวน 75 องค์กร
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวในการเสวนา สู่การขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมอย่างยั่งยืนว่า “คนทุกคนมีความสามารถ สสส. เชื่อว่า หากคนพิการมีงานทำ จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่หมายรวมไปถึงสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย สังคม เศรษฐกิจ และปัญญา ซึ่งสสส.สนับสนุนให้สังคมมีสุขภาวะที่ดี ไม่ใช่ให้คนพิการรู้เพียงปัจจัยเสี่ยง รู้เท่าทันเหล้าและบุหรี่ แต่ต้องมีงานทำอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งเมื่อมีงานทำนอกจากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดียังนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี”
นายประยูร เจริญประวัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ทเวนดิ้ง จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตู้ชื่นใจจะเป็นทุนในการขับเคลื่อนระยะยาว ได้เริ่มโครงการสองปีแล้วมีจำนวนตู้ 200 ตู้ ถือว่าตอบโจทย์ อำนวยความสะดวกให้พนักงานโรงงานเขาไม่ต้องออกมาข้างนอก ซึ่งรายได้ทุกการซื้อสินค้า 5 เปอร์เซ็นต์จะหักเข้ามูลนิธินวัตกรรมสังคมได้ปลูกฝังในกระบวนการธุรกิจเป็นซีเอสอาร์ในชีวิตประจำวันของคนในสังคม เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชีวิตให้คนพิการ โดยมีเป้าหมาย 1,000 ตู้
ทั้งนี้จากการประเมินโครงการจ้างงานเชิงสังคม โดยทีดีอาร์ไอพบว่า การสร้างโอกาสงานเชิงสังคมให้คนพิการ 1 คนต้องใช้งบประมาณดำเนินการ 3,000 บาท โดยมูลนิธิฯ หาเงิน 1,000 บาทจากการระดมงบประมาณสนับสนุนผ่านตู้ชื่นใจ 1,000 บาทที่สอง มาจากการระดมงบประมาณจากบริษัทที่ต้องการนับสนุน และอีก1,000 บาท มาจากการระดมการสนับสนุนจากภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.taejai.com
“การเข้าไปสนับสนุนการจ้างงานคนพิการของ สสส. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าตามลำดับ ซึ่ง สสส. ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และ 35 มากกว่ามาตรา 34 ที่บริษัท ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน และยังคงมองหานวัตกรรมใหม่เพื่อให้คนพิการเข้าถึงแหล่งงาน เช่นที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนให้ผู้พิการทำงานรณรงค์เมาไม่ขับหรือสนับสนุนให้เป็นผู้ช่วยดูแลสุขภาพใน รพ.สต. เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สังคมจะไม่ทอดทิ้งกัน” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการ สสส.กล่าวทิ้งท้าย
หลากหลายช่องทางที่ผู้คนในสังคมมีส่วนช่วยให้ผู้พิการมีงาน เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งทุกคนช่วยได้ง่ายสุดโดยเข้าไปบริจาคเงินสนับสนุนได้ที่ เทใจ.คอม หรือการนำตู้ชื่นใจไปติดตั้งในโรงงาน สถานที่ทำงาน เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นน้ำมันหล่อลื่นเกิดเป็นกลไกการจ้างงานผู้พิการที่ยั่งยืนต่อไป