"ซูเปอร์แมน" นั่ง "แอมบาสเดอร์" สเปเชียลโอลิมปิค
สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ยก "ซูเปอร์แมน" บุญศักดิ์ พลสนะ อดีตนักแบดมินตันชายเดี่ยว มืออันดับ 4 ของโลก นั่งแท่น "แบรนด์แอมบาสเดอร์" หวังสร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬาทุกเพศทุกวัย
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี เมมเบอร์) ในฐานะรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า จากผลงานที่ผ่านมาของ "ซูเปอร์แมน" บุญศักดิ์ พลสนะ อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย และมือ 4 ของโลก ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ นั้น สมาคมฯ จึงสนับสนุนและแต่งตั้งให้ บุญศักดิ์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของสเปเชียลโอลิมปิคประเทศไทย เพื่อร่วมเป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาผู้พิการทางสติปัญญาและนักกีฬาทั่วไป ในการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเซียแปซิฟิค ยูนิฟายด์แบดมินตันครั้งแรกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค รวมทั้งสะท้อนความมุ่งมั่น ความตั้งใจให้กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาระดับโลก ให้ทุกเพศ ทุกวัย และนักกีฬาผู้พิการทางสมองเข้าถึงได้ ตามยุทธศาสตร์หลักของสมาคมฯ
"ในฐานะอดีตนักกีฬาแบดมินตันมือ 4 ของโลก บุญศักดิ์ ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้กับแฟนๆ ของเขาทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาผู้พิการทางสติปัญญา เรามองความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสเป็นทั้งเครื่องมือพัฒนาทักษะทางด้านร่างกายและจิตใจของนักกีฬาที่พิการทางสติปัญญาและนักกีฬาทั่วไป" คุณหญิงปัทมา กล่าว
ขณะที่ บุญศักดิ์ พลสนะ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่สมาคมฯ ให้โอกาสในการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ครั้งแรกของการแข่งขันกีฬาดังกล่าว ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มุ่งมั่น พยายามผลักดันให้คนไทยได้รู้จักการแข่งขันกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคมากขึ้น ตลอดจนนำความรู้และทักษะด้านกีฬาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารว่า กีฬาสามารถพัฒนาสมองได้เป็นอย่างดี
"บุคคลไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตามย่อม มีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือผู้พิการก็ย่อมได้รับสิทธิเท่ากัน ทางการกีฬาก็เช่นกันแม้ว่าจะเป็นผู้พิการแต่ก็มีสิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมในการเล่นกีฬาสำหรับผู้พิการ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสามารถของคนพิการที่เทียบเท่าคนปกติเป็นการเปิดโอกาส ให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น และมีพื้นที่ให้คนพิการแสดงความสามารถทางการกีฬา มีทักษะที่เป็นเลิศอยู่ในระดับมาตรฐานและเท่าเทียม กับคนปกติ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมทักษะทางด้านกีฬาให้กับคนพิการจึงมีความสำคัญไม่แพ้การส่งเสริมทักษะอื่นๆ ด้วยผลลัพธ์ที่ตามมานอกเหนือจากทักษะทางด้านกีฬาแล้วยังเป็นการส่งเสริมการเข้าสังคม การมีน้ำใจนักกีฬา การส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านกีฬา จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นนักกีฬาระดับโลกได้" นายบุญศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย