Wheel Share Journey ส่งต่อ “โอกาส” และ “ความเท่าเทียม” ให้ผู้พิการ
Wheel Share Journey ส่งต่อ “โอกาส” และ “ความเท่าเทียม” ให้ผู้พิการออกไปท่องโลกกว้าง เตรียมนำรถเข็นต้นแบบทีมชนะเลิศผลิตจริงให้สถานที่ท่องเที่ยว
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดโครงการ Wheel Share Journey เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญการให้โอกาสและสร้างความเท่าเทียมที่มีต่อผู้พิการในสังคมไทย จัดประกวด “ออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการ” ที่จะเป็นการนำเอาองค์ความรู้ ความสามารถของนักศึกษาทั่วประเทศที่สนใจให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาต้นแบบรถเข็นที่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ผู้พิการในประเทศไทยต่อไป โดยได้เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา มีนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 287 ทีม จนคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้าย มาร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 6 ต.ค. 62 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งจะนำรถเข็นต้นแบบเข้ารับการทดสอบในสนามจำลองสภาพพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้ทีมที่ชนะเลิศจะใช้เป็นต้นแบบไปผลิตจริง และส่งต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่สนใจอยากได้รถเข็นไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวก็สามารถติดต่อมายังโครงการเพื่อขอรับรถเข็นได้อีกด้วย
ทั้งนี้ 10 ทีมสุดท้ายรอบชิงชนะเลิศ ต้องผลิตรถเข็นต้นแบบและนำมาใช้ทดสอบในสนามจำลองที่ออกแบบพื้นที่ให้มีลักษณะต่างๆ เช่นเดียวกับโอกาสที่จะสามารถพบเจอได้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นลาดชัน ทางซิกแซก พื้นผิวขรุขระ พื้นทราย ขณะที่เกณฑ์ในการตัดสินจะให้น้ำหนักสำคัญจากความสามารถในการนำไปใช้งานได้จริงเป็นหลัก รวมไปถึงเรื่องของการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทานของอุปกรณ์ที่นำมาผลิตรถเข็น ขณะที่คณะกรรมการตัดสินมีนักกีฬาพาราลิมปิกไทย คือ คุณสายสุณีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนพิการทีมชาติไทย คุณเธียร ทองลอย นักกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทีมชาติไทย และคุณชนันท์กานต์ เตชะมณีวัฒน์ นักกีฬาวีลแชร์เทนนิสคนพิการทีมชาติไทย มาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน
สำหรับทีมชนะเลิศ คือ ทีม MEC_T จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท ทีมอันดับที่ 2 คือ Mega chance จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และอันดับที่ 3 คือ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับเงินรางวัล 60,000 บาท และในส่วนของรถเข็นต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปพัฒนาต่อเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย
คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “โครงการ Wheel Share Journey ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนิสิตนักศึกษาส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้จำนวนมาก ขณะที่เกณฑ์ในการตัดสินจะให้น้ำหนักสำคัญจากความสามารถในการนำไปใช้งานได้จริงเป็นหลัก รวมไปถึงเรื่องของการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทานของอุปกรณ์ที่นำมาผลิตรถเข็น หลังจากได้ผู้ชนะจากโครงการแล้ว เราจะร่วมกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำรถเข็นต้นแบบของทีมที่ชนะไปผลิตเป็นของจริง โดยทางมูลนิธิจำนงค์ ภิรมย์ภักดี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำการผลิตชุดแรก เพื่อส่งมอบให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงสถานที่ที่สนใจอยากได้รถเข็นไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวก็สามารถติดต่อมายังโครงการเพื่อขอรับรถเข็นได้ ซึ่งหลังจากกระบวนการผลิตแล้วเสร็จ ทางโครงการก็จะดำเนินการจัดส่งรถเข็นไปให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ การจัดประกวดออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ ความสามารถของนิสิต นักศึกษาไทย รวมทั้งการใช้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม โดยที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการผลิต รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยขยายเครือข่าย ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังสถาบันต่างๆ ที่ต้องการต้นแบบรถเข็นนี้เพื่อนำไปผลิตเอง รวมไปถึงยังสามารถต่อยอดไปสู่โครงการในการฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่กลุ่มผู้พิการต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง”
นายวรุตม์ บุศย์รัศมี (ตุลา) นายธีรพล คงดีพันธ์ (เรน) นายพรพนา เก้าแพ (แม็ค) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทีม MEC_T จากสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “แนวคิดและแรงบันดาลใจในการทำรถเข็นคันนี้ มาจากอาจารย์ที่ปรึกษาครับ อาจารย์เข้ามาแนะนำโครงการ ซึ่งพวกผมเป็นกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันอยู่แล้วจึงสนใจอยากจะรวมทีมสร้างรถเข็นที่สามารถพาผู้พิการไปได้ทุกที่ เพราะว่ารถเข็นที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีขีดจำกัดในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวต่างๆ ผมก็เลยได้ปรึกษากันในทีมหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้รถเข็นของเรานั้นสามารถไปได้ทุกพื้นที่ ซึ่งผม (แม๊ค) เป็นคนที่ปั่นจักรยานอยู่แล้วด้วย ผมเลยได้รู้จัก เกี่ยวกับจักรยานชนิดหนึ่ง ที่สามารถลุยทรายได้และมีน้ำหนักเบามันคือจักรยาน Fatbike ผมเลยคิดเอาล้อของมันมาใส่ในรถเข็นของพวกเรา และอีกแนวคิดหนึ่งคือ คนพิการทุกคน อาจจะไม่มีกำลังแขนที่แข็งแรงเท่ากันทุกคน เพราะฉะนั้นในทางลาดชันมีความสำคัญมากผมเลยมีแนวคิดนำระบบกันกลับที่ใช้ในรถเข็นในสนามบินมาใช้ เพื่อให้ผู้พิการสามารถหยุดพัก ได้ระหว่างขึ้นทางชัน อีกแนวคิดหนึ่งคือ พวกเราได้เข้าไปศึกษารถเข็นที่ใช้ในต่างประเทศ ผมได้เข้าไปเจอรถเข็นที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งรถคันที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นสามารถลุยหิมะได้ ผมเลยเข้าไปดูว่าเขาทำยังไง ผมได้พบว่าที่ล้อหน้าของเขา มีการนำตัวสกี มาใส่เพื่อให้สามารถลุยหิมะได้ ผมเลยเอาแนวคิดนี้มาใช้ในการเข็นบนพื้นทราย สำหรับหลักการใช้งานของรถเข็นของเรา คือรถเข็นของเราจะมีลักษณะพิเศษคือล้อโต สามารถลุยไปได้ทุกพื้นที่และรถเข็นของเรายังมีระบบความปลอดภัยคือตัวเฟืองกันกลับที่สามารถให้ผู้ป่วยหยุดพักได้ระหว่างขึ้นทางชัน แล้วตัวรถเข็นของเรา ยังมีระบบ GPS แจ้งเตือนเมื่อรถเข็นของเรา เกิดการคว่ำ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่พร้อมใช้งาน และรถเข็นของเรายังมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือในเวลาที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือนจะแจ้งเตือนไปทางไลน์ของผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ ส่วนที่เราอยากจะพัฒนาต่อไป คือ พัฒนาให้รถเข็นมีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรง มีความปลอดภัย และเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น”
ขอบคุณ... https://www.dek-d.com/activity/53804/