หลอมพลังรวมใจพลิกชีวิตคนพิการมีงาน คุณภาพชีวิต
จากเดิมไม่มีรายได้ ต้องพึ่งครอบครัว ไม่มีอิสระ ไม่มีอำนาจศักดิ์ศรี แต่ปัจจุบันคนพิการกำลังมีชีวิตของตัวเอง
เมื่อกฎหมายปลดล็อก ขับเคลื่อนให้สถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการตามกฎหมายได้ไม่ครบจำนวน100:1 ตามที่กำหนด (มาตรา 34) เปลี่ยนมาสนับสนุนจ้างงานคนพิการเชิงสังคม หรือเปลี่ยนเป็นการให้การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพอิสระตามมาตรา 33 และ 35 ผลผลิตที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ คนพิการสามารถมีอาชีพและมีงานทำใกล้บ้าน
ซึ่งหากนับถึงวันนี้ ผู้ประกอบการได้ร่วมกันให้การสนับสนุนงานและอาชีพแก่คนพิการกว่า 20,000 โอกาส หากคิดเป็นรายได้และทุนสนับสนุนอาชีพส่งตรงถึงมือคนพิการรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน สมาชิกในสังคมยังได้เห็นถึงศักยภาพของคนพิการในฐานะพลเมืองเข้มแข็ง (Active Citizen) ที่สามารถทำประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้
“สสส. ทำงานเรื่องผู้พิการมานับสิบกว่าปี โดยเริ่มจากตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้พิการมีชีวิตอิสระมากขึ้น และสามารถออกจากบ้านได้ รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและสวัสดิการ” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกริ่นเล่า
“ซึ่งหลังจาก สสส. และภาคีผลักดันหลายส่วนๆ จนเกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการปี พ.ศ.2550 หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำมากขึ้น ตามมาตรา 33 และ 35 ”
นับย้อนไปเกือบ 5 ปี ก่อนด้วยกลไกการทำงานที่ สสส. ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ได้พัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการในชุมชนและองค์กรสาธารณะประโยชน์โดยใช้มาตราดังกล่าว ไม่เพียงสามารถช่วยให้คนพิการสามารถทำงานใกล้บ้าน แต่การเปลี่ยนวิธีที่ทำให้เงินก้อนเดิม มาเป็นรูปแบบการจ้างงานทางอ้อม แทนการนำส่งเข้าไปนอนอยู่ในกองทุน ซึ่งแน่นอนว่า รายได้เหล่านี้สามารถส่งไปถึงงคนพิการโดยตรง ได้100%
อีกหนึ่งผู้ร่วมบุกเบิกแนวคิดการจ้างงานคนพิการเพื่อสังคม อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เอ่ยถึงผลลัพธ์ความภาคภูมิที่เกิดจากการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ว่าจากการผลักดันต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันในปี 2562 นี้ สถานประกอบการกว่า 500 แห่ง ได้ให้การสนับสนุนโอกาสงานและอาชีพแก่คนพิการกว่า 7,000 คน
“ต้องบอกก่อนว่า จริงๆ แล้ว กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพผู้พิการนี้เป็นกฏหมายที่ดีมากอยู่แล้ว แต่กฎหมายยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ เพราะติดบริบท ต้องยอมรับว่าหลายบริษัทเองก็มีความตั้งใจที่จะจ้าง แต่ก็ต้องมีคนที่มีความรู้ ทักษะ ซึ่งคนพิการ 94% ไม่มีความรู้และการศึกษา จึงเกิดช่องว่าง เป็นปัญหาที่สะสมมาทุกปี” อภิชาติกล่าว
“ซึ่งผมมองว่าความยากเรื่องนี้ มันยากด้วยกรอบความคิด ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อน เราจะคิดว่าการทำงานคือต้องมาทำงาน แต่ เรานอกกรอบตรงนี้ โดยการที่หางานที่เขาทำได้และเป็นประโยชน์”
อภิชาติยอมรับว่าปีแรกๆ เป็นเรื่องยากมากที่จะชวนบริษัทให้ทำตามแนวทางนี้ เพราะเมื่อลูกจ้างกับนายจ้างอยู่ไกลกัน ก็ยากที่ผู้ประกอบการจะไว้ใจว่าเงินแต่ละเดือนที่ส่งไปนั้นถึงมือคนพิการจริงหรือไม่
“แต่ผมคิดว่าเราก้าวพัฒนามาเรื่อยๆ ภาคีก็ให้ความร่วมมือ ก็เชื่อว่าน่าจะไปต่อได้อย่างแน่นอน”
“ความสำเร็จที่ผ่านมาทั้งหมด ผมมองว่าภาคี ทั้งคนในพื้นที่และคนพิการ นี่คือผลงานของพวกเขาล้วนๆ ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมากมาย ทางพื้นที่เขาคิดเอง หน้าที่เราเพียงเชื่อมทรัพยากรให้เขา
ดังนั้นวันนี้เรามองว่า กลไกในการประสานมีแล้ว ภาคีเรามีแล้ว ถัดไปคืองบระมาณและทรัพยากร ที่ทำอย่างไรไม่ต้องพึ่งงบ สสส. อย่างเดียว เลยเป็นที่มาของตู้ชื่นใจ เทใจดอทคอม ที่จะเกิดการระดมทุนที่จะทำให้ใช้ขับเคลื่อเพื่อเสริมให้ภาคีที่ทำงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้งานเดินต่อไปด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน” อภิชาติเอ่ย
เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม เล่าถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดีๆ ว่าโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ โดยเทใจ.คอมจะเป็นสื่อกลางในการระดมเงินทุนจากผู้สนับสนุนไปทำโครงการดีๆให้เกิดขึ้นกับผู้พิการ ซึ่งโครงการมีเป้าหมายระดมเงินสนับสนุน 3 ล้านบาท ที่จะช่วยสร้างโอกาสงานคนพิการ 3 พันคน โดย เงินทุก 1,000 บาทจะทำให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ ได้ทำงานในองค์กรเพื่อสังคมใกล้บ้าน รวมถึงการให้ความอนุเคราะห์สถานที่ติดตั้ง “ตู้ชื่นใจ” ยังเป็นอีกทางเลือกสำหรับหน่วยงานในการที่จะมีส่วนส่งเสริมอาชีพคนพิการได้ด้วย
ซึ่งเพื่อแสดงความขอบคุณต่อหน่วยงานสถานประกอบการและองค์กรต่างๆ ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ติดตั้ง “ตู้ชื่นใจ” เพื่อเป็นฐานในการสร้างทุนสนับสนุนให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต สสส.ร่วมด้วยมูลนิธินวัตกรรทางสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายจึงจัดงานมอบประกาศเกียรติคุณในงาน FIRST IN THE WORLD INSPIRING THE WORLD ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
อภิชาติเอ่ยต่อว่าปัจจุบันการทำงานมีภาคีร่วมขับเคลื่อนภารกิจจากทุกภาคส่วนและภาคีพื้นที่กว่า 2,000 หน่วย ร่วมดำเนินการ ขณะเดียวกันการจ้างงานคนพิการเพื่อสังคมก็ยังต้องดำเนินต่อไปให้ถึงที่สุด เพื่อรอวันที่เยาวชนผู้พิการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ในอนาคตการจ้างงานคนพิการกระแสหลักจะเพิ่มมากขึ้นตาม
“อย่างไรเสียการที่คนพิการถูกจ้างงานให้ทำงานโดยตรงดีที่สุด แต่บ้านเรายังไม่พร้อมทั้งสองฝั่ง การจ้างแบบนี้จึงเป็นทางเลือก แต่ในอนาคต คนพิการต้องเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษามากขึ้น ซึ่งปัญหาใหญ่มากขนาดนี้เราทำคนเดียวคงไม่ได้ ต้องเป็นภาครัฐ” อภิชาติเอ่ย
ด้าน ดร.สุปรีดาเสริมความเห็นว่า ถึงแม้วันนี้เราจะมีคนพิการที่ถูกจ้างงานมากขึ้น แต่ สสส. และทุกฝ่ายมองว่าก็ยังคงไม่เพียงพอ เพราะยังมีคนพิการที่รอโอกาสตรงนี้อีกมากมาย
“ดังนั้นเป้าหมายต่อไปที่เรากำลังผลักดันคือการขับเคลื่อนให้คนพิการได้รับการจ้างงานมากขึ้น ถึงเป้าขั้นต่ำที่กฏหมายกำหนด และทยอยเพิ่มสัดส่วนผู้พิการที่มีงานมากขึ้นต่อไปในระยะยาว รวมถึงอีกความคาดหวังสำคัญเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน คือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้ขยายประโยชน์ไปยังคนพิการทั่วทุกพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างจุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.สุปรีดากล่าว
ปิดท้ายด้วย อณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจโดยตรงที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สนับสนุนและส่งเสริม ให้หน่วยงานภาครัฐ จ้างคนพิการเข้าทำงานให้โอกาสคนพิการได้มีงานทำ เพื่อให้พวกเขามีรายได้และอาชีพ ที่ยั่งยืน และร่วมสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการอย่างถูกต้อง และมีเป้าหมายเพื่อคนพิการอย่างแท้จริง”
ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/1741